Key Highlights บทสัมภาษณ์ เคน นครินทร์ THE STANDARD จากงาน Director Brief: The Invisible Leader for Sustainable Growth

เมื่อทราบว่าคุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO&Editor-in-Chief, THE STANDARD ได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ประกอบกับ คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ CEO, Thai Institute of Directors (IOD) อยากจะทำ Content ให้กับทาง Community of Practice – Business Transformation and Leadership ที่มี ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ Founder&CEO, ADGES เป็น Community Lead อยู่ จึงถือเป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกับคุณเคน THE STANDARD และที่มาของหนังสือใหม่ในรอบ 8 ปี ที่คุณเคนตั้งใจเขียนจากประสบการณ์สัมภาษณ์ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ นักการเมือง และบุคคลที่น่าสนใจมากว่า 1,000 คน ผ่านรายการ The Secret Sauce สอดแทรกกับบทเรียนจริง ประสบการณ์ตรงจากบทบาทการเป็นผู้นำในองค์กรสื่ออย่าง THE STANDARD และสรุปออกมาเป็น ‘คู่มือผู้นำ-นักธุรกิจศตวรรษที่ 21” ผ่าน หนังสือ The Invisible Leader ผู้นำล่องหน

Key Highlights ที่ได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับคุณเคน นครินทร์ ในครั้งนี้

คำถามที่มักจะถามในวง Leadership คือ ภาวะผู้นำคืออะไร? และผู้นำสามารถสร้างขึ้นมาได้หรือไม่? ในหนังสือ The Invisible Leader คุณเคนกล่าวไว้ว่าผู้นำมีหลายรูปแบบ มีตั้งแต่ผู้นำที่นำโดยความเกลียด ผู้นำที่นำโดยความกลัว ผู้นำที่นำโดยผลประโยชน์ แต่ที่สุดของการเป็นผู้นำ คือ การเป็นผู้นำที่นำโดยการมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้อื่น ต่อให้ผู้นำคนนั้นมีอำนาจตามสายงานหรือไม่มี เป็นคนที่เราเคยเจอหรือไม่เคยเจอก็ตาม เมื่อผู้นำคนนั้นเป็นต้นแบบทางการงานหรือการใช้ชีวิต ถือว่าเป็นผู้นำที่สามารถสร้าง Influence ให้กับผู้อื่นได้

ผู้นำเป็นผล ไม่ใช่เหตุ

ในแวดวงของการเรียนรู้เรื่อง Leadership เรามักที่จะเห็น Leadership-Wanna-Be มากมาย ต่างโหมเรียนหลักสูตรต่างๆ เพราะมองว่าถ้าเราประดับอาวุธและติดทักษะในเรื่องต่างๆ ของเราแล้ว เมื่อนั้นเราจะสามารถอุปโลกน์ได้ว่าเราสามารถ Claim ตัวเราเองให้เป็น Leader จากหลักสูตรและวุฒิการศึกษาที่มี ซึ่งสำหรับ ดร.ณัฐวุฒิ มองว่า Leadership คือ การลงสนามจริง ทำจริง เจ็บจริง มากกว่า พอได้พูดคุยกับคุณเคน นครินทร์ ที่พูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีไทย คุณอานันท์ ปันยารชุน ที่ท่านกล่าวไว้อย่างสวยงามและตรงตัวว่า ‘เมื่อเหตุและปัจจัยถึงพร้อม และสิ่งที่บุคคลนั้นทำและตัวตนที่เขาเป็น เมื่อนั้นคนรอบข้างจะเห็นและตัดสินใจเองว่าเขาเป็น Leader ของเราหรือเปล่า เพราะผลลัพธ์จะเป็นตัวกำหนดให้เอง’

เมื่อผลลัพธ์ในการทำงานสำคัญที่สุด อัตตา(Ego) ในการเป็นผู้นำเลยเป็นเรื่องรอง

คุณเคน นครินทร์ กล่าวว่า “ผู้นำยังมีอำนาจแต่ใช้แบบเดิมไม่ได้แล้ว” ถ้าผู้นำเอาผลสำเร็จเป็นที่ตั้ง เมื่อนั้นเรื่องอื่นจะเป็นเรื่องรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตตา (Ego) หรือการไม่เปิดใจรับฟังลูกน้อง สุดท้ายผู้นำก็จะเริ่มเห็นเองว่า บางทีสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การเปิดทางให้ผู้อื่นเข้ามาทำแทน เพราะคนรุ่นใหม่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่อง Technology ที่ดีกว่า เข้าใจลูกค้า มีความพร้อมทางด้าน Physical พร้อมที่จะเอาร่างกายเข้าแลก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้นำในปัจจุบันก็คือการสร้างผู้นำรุ่นใหม่หรือ Successor นั่นเอง

ระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นใหญ่” มุมมองความคิดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบให้ใครมาสอน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปอย่าง Technology AI สื่อต่างๆ ที่มาไวไปไวมากและเริ่มไม่ยั่งยืน ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ ตอนนี้เป็นยุคของ Individual ที่ใครๆ ก็มีอำนาจในมือ ใครๆ ก็เป็น Youtuber ได้ ใครๆ ก็ขับ Grab ได้ ทำให้คุณค่าในตัวบุคคลเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า มุมมองต่ออำนาจในมือคนรุ่นใหญ่ใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

ผู้นำยุคใหม่ต้องมี Growth Mindset สูงมาก อะไรที่เราไม่รู้ต้องเปิดใจกว้างๆ เพื่อเรียนรู้ ยอมรับและลด Ego ลง ในยุคศตวรรษที่ 20 ผู้นำสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มมือ แค่มีคำสั่งออกมาก็ต้องทำตาม ให้ผลตอบแทนสูง มีนโยบายที่น่าสนใจ มีกลยุทธ์ที่เข้มแข็งพอที่จะพาองค์กรไปข้างหน้าได้ เพราะคนยังคงมองแค่เรื่องเงินและความมั่นคงในชีวิตเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งแตกต่างกับในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ที่ผู้นำต้องรู้จักการใช้อำนาจอย่างถูกที่ถูกเวลา ไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มมืออีกต่อไป แต่ต้องรู้จักการกระจายอำนาจ หรือ Empower ให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ คือ Flexibility ในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเรื่องของเวลา เรื่องของ Purpose เหตุผลของการมีอยู่ขององค์กร สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงานในองค์กรด้วย

เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดมา คุณจะก่อกำแพงหรือจะสร้างกังหันลม

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นนอกยุคนอกสมัยเราจนเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าใหม่และเป็นสิ่งเฉพาะในยุคเราอาจจะเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วก็ได้ในอดีต ถึงแม้ว่าเราจะเพิ่งมาได้ยินคำว่า VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity, and Ambiguity) หรือ BANI (Brittle, Anxious, Nonlinear, and Incomprehensible) ในการพูดคุยกับคุณเคน นครินทร์ ก็ได้ยกคำพูดที่ทำให้เราได้คิดกันต่อว่า ‘เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดมา เราจะสร้างกำแพงหรือจะสร้างกังหันลม’ เมื่อมองในมุมของธุรกิจเราจะเห็นกำแพงจากความไม่รู้ คนต่างรุ่น เทคโนโลยี Metaverse NFT ChatGPT AI จากแทนที่จะเร่งสร้างกำแพงปิดกั้น เราจะเปลี่ยนความไม่รู้และความกลัวนั้น เป็นการสร้างกังหัน เป็นความหวังและอนาคตกันได้อย่างไร

People will forget what you said or did, but they will never forget how you make them feel

ผู้นำชั้นแย่เป็นผู้นำที่นำโดยใช้อำนาจ Command and Control ซึ่งสักวันอำนาจก็จะหมดไป แต่ผู้นำชั้นเยี่ยมจะเข้าไปนั่งในใจผู้คน นำโดยไม่ได้ใช้เพียงอำนาจ แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นชื่อหนังสือที่ว่า The Invisible Leader หรือ ผู้นำล่องหน อาจจะเป็นการเล่นคำเพื่อให้เกิดการถกเถียงและแปลความ หรืออาจจะเป็นที่สุดของผู้นำ นำโดยไม่ต้องมีตัวตนอยู่ตรงนั้นเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างสภาพแวดล้อมที่จะดึงเอาศักยภาพสูงสุดของ คน ทีมและองค์กรออกมาเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ และเมื่อบรรลุในเป้าหมายแล้ว ยังชื่นชมยินดีถึงความสำเร็จที่สร้างมาด้วยกันโดยไม่คิดว่าเป็นผลงานของผู้นำแต่เพียงผู้เดียว

Next Step ของเคน นครินทร์กับการเติม Six Pack ให้ Content

ก่อนจบการพูดคุย ดร.ณัฐวุฒิ ได้ถามคุณเคน นครินทร์ ทิ้งท้ายว่า อะไรคือสิ่งที่คุณเคน นครินทร์ตั้งใจจะทำต่อ โดยคุณเคนได้กล่าวว่า

“ก็ยังคงอยู่กับ THE STANDARD เพราะอยากสร้าง Content ที่ Sexy เติม Six Pack ลงไป เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ที่ผ่านมาทาง THE STANDARD ได้ตั้ง THE STANDARD Sustainability ขึ้นมา ตั้งใจไว้ว่าใน 1 อาทิตย์ต้องมี Content เกี่ยวกับ Sustainability แต่ทุกครั้งที่มีคำว่า “ความยั่งยืน” จะเป็นคลิปที่ยอด View ตกยอด Like หาย อาจจะเพราะยังดูเป็นเรื่องไกลตัวในปัจจุบัน แต่ก็มุ่งมั่นที่จะตั้งใจทำต่อไป”

เรื่องของความยั่งยืนบางอย่างไม่ต้องใช้เงิน แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา จะทำให้โลกสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคตดีขึ้นได้ ผู้นำต้องเป็นคนริเริ่มการตอบสนองความต้องการใช้ทรัพยากรที่ไม่ริดรอนคนรุ่นหลัง นั่นหมายถึงเราต้องใช้ความพยายามในการฝืนธรรมชาติในบางครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองยาวๆ อาจจะเป็นสิ่งไม่ถูกใจแต่ว่าถูกต้อง ผู้นำต้องมี Vision และตั้งเข็มทิศให้ถูก หากผู้นำไม่เริ่ม Mindset นี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

และนี่คือสุดยอดผู้นำที่คุณเคน นครินทร์ ได้ตกผลึกทางความคิด จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากผู้นำไทยกว่า 1,000 คน ในรายการ The Secret Sauce ที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทาง ADGES ขอให้ Content เรื่อง Sustainability ของ THE STANDARD มียอด View ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป

สุดท้ายขอขอบคุณ คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO&Editor-in-Chief, THE STANDARD และขอขอบคุณทาง IOD ที่จัดงานดีๆ แบบนี้และเปิดพื้นที่ให้ Community of Practice ได้ทำงาน ทั้งนี้ ADGES ฝากติดตามกิจกรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้นและเป็นกำลังใจให้กับทีมงาน IOD และ Community of Practice เพื่อให้เกิดงานอย่าง Director Brief ที่จะพาทุกท่านไปรู้จักกับบุคคลที่มีความสามารถจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศเช่นนี้ต่อไป

how can we help you?

If you have questions or require more information about our services.