ผู้บริหารบริหารอะไรกันแน่…
การเป็นผู้บริหารสมัยปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ไหนที่จะมีเรื่องให้ชวนคิดอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Disruption Workforce Technology, Risk, Diversity, Cyber-security และอื่นๆอีกมากมาย นี้ยังไม่นับรวมถึง Course อบรมจาก Guru จากหลากหลายสำนักที่ประดังประเดถาโถมเข้าใส่ จนไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรไปฟังสัมมนาที่ไหนดี
ด้วยเหตุนี้ ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ (Founder & CEO ADGES) จึงร่วมกับ Thai Institute of Directors (IOD) ผลิตรายการขึ้นมาใหม่คือ “Aspiring Director” ขึ้นมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริหาร กรรมการบริหาร ที่น่าสนใจ เชื่อมโยงกับ Passion, Purpose และ Performance ขององค์กร
แขกรับเชิญคนแรกของรายการคือ ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการอิสระ บริษัท ปตท. สผ ประธานกรรมการบริหารสวนโมกข์กรุงเทพฯ มาพูดคุยในเรื่อง “การสร้างองค์กรแห่งสติ” ซึ่ง ดร.วิรไท ได้รณรงค์ให้องค์กรต่างๆ นำเอาเรื่องสติมาใช้ เพราะผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้คงหนีไม่พ้นผู้นำสูงสุดขององค์กร
ทุกครั้งที่ ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ ได้มีโอกาสร่วมงานกับ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพ และ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ในเรื่อง “องค์กรรมณีย์” มาถึงรุ่นที่ 6 แล้ว โดย ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ ได้สวมบทบาทชวนวิทยากรอีกสามท่านซึ่ง ดร.วิรไท สันติประภพ ก็เป็นหนึ่งในวิทยากร รวมถึง โค้ชจิมมี่ พจนารถ ซีบังเกิด และครูดล ธนวัชร์ เกตน์วิมุต เกี่ยวกับเรื่อง การสร้างสติและการสร้างองค์กรแห่งสติ อยู่ทุกครั้ง แต่ในคราวนี้เป็นการสัมภาษณ์ในวงของ IOD ซึ่งผู้เข้าร่วมการเสวนาจะประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูง ประธานกรรมการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ และผู้สนใจที่เป็นสมาชิกของทาง IOD
ดร.วิรไท สันติประภพ Aspiring Director คนแรกของรายการกล่าวไว้ว่า
1. สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหาร…คือการบริหารจัดการ Trust
“ความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในองค์กร ซึ่งความไว้ใจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่มีการฟังอย่างตั้งใจ หรือ Deep listening หลายองค์กรมีพื้นที่แห่งการสั่ง การทำ แต่ไม่เคยเปิดพื้นที่เรื่องการฟัง”
ดร.วิรไท บอกกับเราว่า ด้วยความที่มักที่จะทำงานกับองค์กรที่มีแต่คนเก่งๆ เมื่อคนเก่งๆ อยู่รวมกัน ก็จะเกิดวัฒนธรรมที่ว่า จำเป็นที่ต้องสามารถหาตรรกะและข้อโต้แย้ง เพื่อหาข้อผิดพลาดของงานของอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ดังนั้นวัฒนธรรมที่องค์กรดังกล่างสร้างขึ้นมา จะเป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบวิพากวิจารณ์ จับผิด ตั้งแง่ โดยที่จะให้น้ำหนักน้อยในเรื่องของการฟังอย่างตั้งใจ หรือแนะนำอย่างสรรค์สรรค์ หรือไม่ก็เปิดโอกาสให้พลาดแต่ได้เรียนรู้ เมื่อทางองค์กรที่ ดร.วิรไท กำกับดูแลอยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริหาร โดยที่จะเริ่มจากให้ผู้บริหารรู้จักชมให้เป็น แต่ปรากฏว่าผู้บริหารที่เก่งเรื่องงาน แต่ไม่สามารถที่จะก้าวข้ามตัวตนของตนเองและสามารถที่จะชมใครได้ พร้อมทั้งบอกว่า เกิดมายังไม่เคยชมใคร
ขออนุญาตเสริมนิดว่า ส่วนที่มักจะเข้ามาขวางและทำให้ผู้บริหารไม่สามารถจัดการเรื่อง Trust ได้มักจะเป็นเพราะว่ายังมีอคติหรือ Bias ในทางพุทธมีการพูดถึงเรื่อง อคติว่ามีอยู่สี่แบบหรือเรียกว่า อคติสี่
อคติสี่ ตามหลักพุทธศาสนา แบ่งอคติออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะรักหรือชอบพอกัน
2. โทสาคติ ความลำเอียงเพราะชัง
3. โมหาคติ ความลำเอียงเพราะเขลาหรือหลงผิด
4. ภยาคติ ความลำเอียงเพราะกลัว
2. ฐานทั้งสาม ที่จำเป็นในการทำงาน
นอกจากนั้น ดร.วิรไท ยังบอกกับเราว่าในการทำงานเราต้องใช้สามฐานนั้นคือ ฐานคิด ฐานการกระทำ และฐานใจ เรามักที่จะให้ความสำคัญ ดูแลรักษาในเรื่องของ ฐานคิด โดยการเติมความรู้เข้าไปอย่างสม่ำเสมอ หา Tools และ Technique ใหม่มาใช้ในการทำงาน และฐานการกระทำ การออกกำลัง ดูแลรักษา ทำความสะอาด
แต่ฐานใจอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และอยู่กับเราตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เรามักจะไม่ออกกำลังใจ และไม่ได้ล้างใจ ทำความสะอาดใจ ทำให้ใจยังเต็มไปด้วย สิ่งที่เป็นลบ อคติ เรื่องราวเก่าๆ มานะ อัตตา ผู้บริหารในองค์กรต้องสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กร แต่วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าผู้บริหารไม่ทำให้เป็นตัวอย่างและเอาจริง เอาจังกับมัน ผู้บริหารไม่สามารถ Outsource งานทางด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กับ HR หรือผู้บริหารระดับรองลงมา
3. ผู้นำต้องสร้าง Mindfulness Competencies
สำหรับคำถามที่ว่าแล้วผู้บริหารจะสร้าง Mindfulness ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น จะต้องสร้าง Competency ซึ่งรวมไปด้วยองค์ประกอบในเรื่อง Skill Knowledge และ Attribute ในเรื่องใดบ้าง ดร.ก็ บอกกับเราว่าได้ลองเสนอแนวคิดในเรื่อง 6C ของการสร้าง MIndfulness ไว้ดังนี้
1. Concentration มีสมาธิ ใจจดจ่อกับเรื่องที่กำลังทำ รักษาสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง
2. Clarity เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็น เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่เห็นแบบที่ตัวเองเชื่อว่าเป็น หรืออยากให้เป็น ต้องรักษาใจให้เป็นกลางเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ รอบด้าน
3. Contentment สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าเจอแรงกดดันแบบใด ความพึงพอใจทำให้เรารู้จักพอประมาณ สามารถตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า สิ่งที่กำลังทำเป็นความจำเป็นหรือความโลภ
4. Compassion ผู้บริหารต้องสามารถเข้าใจคนอื่น ด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตร ด้วยความคิดอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นดีขึ้น เคารพทัศนคติ ความเห็น และข้อจำกัดของคนอื่น สามารถมองบทบาทของตนกว้างมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง มองโลกและมองทีมงานที่เชื่อมโยงกัน เป็นภูมิคุ้มกันลดความขัดแย้งในองค์กร
5. Creativity and Collaboration ความคิดสร้างสรรค์ เราอยู่บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นต้องเป็นการหาทางออกที่ทำได้จริง ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มี Peace of Mind และการสร้างการมีส่วนร่วมกับบุคคลอื่น ภาคีเครือข่ายต่างๆ
6. Cushioned Mind ใจที่มีกันชน รับแรงปะทะได้ กระทบแต่ไม่กระเทือน
4. You get what you measure – Peter Druker
กูรูทางด้าน Leadership อย่าง Peter Druker บอกไว้ว่า
“วัดอย่างไร ก็ได้ผลลัพธ์อย่างที่วัด”
คือตั้งตัววัดที่ถูกก็เป็นประโยชน์ สร้างตัววัดที่ผิดก็เสียเวลา ทุกครั้งที่ชวนคุยกันเรื่อง Mindfulness และบริบทขององค์กร เรามักจะได้รับคำถามที่ว่า จะสร้างตัววัด (KPI) และผลสำเร็จของการนำไปใช้ Mindfulness ไปใช้ในองค์กรได้อย่างไร เพราะเป็นจริตขององค์กรที่ว่า ถ้าวัดไม่ได้ก็ถือว่าไร้ค่าและเสียเวลาที่จะทำ บ่อยครั้งเรามักจะเห็นองค์กร Obsess กับขบวนการวัดและตัวชี้วัดความเป็นรมณีย์ จนอาจจะทำให้เราถอยห่างออกจากความเป็นรมณีย์ที่แท้จริงก็ได้
ในช่วงก่อนการเสวนาได้ชวนผู้เข้ารวมทำกิจกรรมเพลินธรรมนำชม ซึ่งปกติจะจัดในช่วงเย็นกว่านี้ วันนี้อากาสค่อนข้างร้อน และเมื่อผู้เข้าร่วมเสวนาเข้ามาในห้องปฏิบัติธรรมเมื่อได้สัมผัสกับอากาศที่เย็นความรมณีย์ก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยที่ไม่ต้องอาศัยการวัดแต่อย่างใด หลายท่านมองว่า Technology จะมาช่วยเรื่องการวัด เอา AI มาจับการมีสติกันเลยดีไหม แต่แท้จริงแล้วอาจจะยิ่งทำให้เราถอยห่างออกจากเรื่อง Mindfulness และสาระของมัน ก็ได้
สรุปสุดท้ายคุยมานาน มีคำถามที่ว่า แล้วอะไรคือ ‘สติ’ สติคือ ‘สภาวะที่จิตระลึกรู้ได้ในปัจจุบันขณะ ด้วยความตั้งมั่นและเป็นกลาง’ หรือที่ Guru ทาง Mindfulness ที่ชาวตะวันตกเชื่อถือเป็นอันมานั้นคือ Kabat-Zim ได้สรุปเอาไว้ได้ดีว่า
“Mindfulness is defined as the awareness that emerges through paying attention on purpose, in the present moment, and non-judgemtally to the unfolding of experience moment to moment”
มีผู้ใหญ่หลายท่านฝากไว้ว่า การพูดถึงเรื่องของ Mindfulness Leadership อย่ามองเป็นเพียงทักษะหรือความเข้าใจตามอาชีพเช่น อาชีพผู้บริหาร และคนในองค์กร แต่ทำอย่างไรที่จะลงมาเป็น Mind Literacy ที่มองเป็นเรื่อง Life Long Learning Skill กันเลยดีกว่าและควรจะดูเป็นองค์รวมไปกับระบบการศึกษาของประเทศ ซึ่งก็ตรงกับบทความของท่านพระอาจารย์ชยสาโร ที่พูดถึงว่าระบบการศึกษาของศาสนาพุทธเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุด แต่นับวันเรากลับให้ความสำคัญ น้อยลงน้อยลงไปทุกวัน สิ่งนี้เกิดขึ้นไปพร้อมกับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง คะแนนสอบมาตรฐานของเด็กไทยที่ต่ำลง ความเครียดที่สูงขึ้น และสุขภาวะของคนไทยที่ลดลงด้วยเช่นกัน
ในฐานะของคนทำงานในเรื่องนี้ รู้สึกว่าทุกครั้งที่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ เราจะได้แง่คิดและมุมมองใหม่อยู่เสมอ ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของ ดร.วิรไท และคณะทำงานที่อยากที่จะชวนกันคิดสร้าง Ecosystem และ Platform ในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเพื่อจะทำให้เกิด สังคมรมณีย์ องค์กรรมณีย์ และผู้นำรมณีย์ สรุปรวมได้ว่า…รมณีย์เริ่มขึ้นที่ตัวเรานั้นเอง…
Source: Dr. Nattavut Kulnides