Design Thinking เป็นวิธีการออกแบบที่ทำให้เกิดแนวทางพื้นฐานสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ มันมีประโยชน์อย่างมากในการจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนด้วยการทำความเข้าใจความต้องการของมนุษย์ การกำหนดกรอบของปัญหาโดยเน้นมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง การระดมสมองเพื่อหาไอเดียที่หลากหลาย และการสร้างต้นแบบไปจนถึงการทดสอบวิธีการนั้น
มาทำความเข้าใจกับ 5 ขั้นตอนของกระบวนการ Design Thinking ที่จะช่วยให้คุณสามารถใช้มันเพื่อแก้ปัญหาอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในบริษัท ในประเทศ หรือแม้แต่ปัญหาระดับโลก
1. Empathise
ขั้นตอนแรกของกระบวนการ Design Thinking คือการทำความเข้าใจปัญหาที่เราพยายามแก้ไข โดยการสังเกต การมีส่วนร่วม และการเอาใจใส่ผู้คนรอบตัวเพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์และแรงจูงใจของพวกเขา การเอาใจใส่เป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างแนวคิด Design Thinking เป็นอย่างมาก เพราะมันช่วยให้เราสามารถตั้งสมติฐานเกี่ยวกับผู้คนรอบตัวและความต้องการของพวกเขาได้
2. Define
ขั้นตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำก็คือการนำข้อมูลทั้งหมดที่หาได้จากขั้น Empathise มารวมกันเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์สิ่งที่ได้ จากนั้นจึงเลือกเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเราจริงๆ ออกมาแล้วจึงนำมันมาอธิบายปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่อย่าลืมว่าเราควรกล่าวถึงปัญหาในแบบ “เน้นมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง”
ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “เราจำเป็นต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารในหมู่เด็กสาววัยรุ่นขึ้นอีก 5%” แต่เปลี่ยนเป็น “ผู้หญิงวัยรุ่นต้องกินอาหารที่มีประโยชเพื่อการเจริญเติบโตและร่างกายที่แข็งแรง” จะดีกว่า
ในขั้นตอนนี้จะช่วยให้ทีมรวบรวมแนวคิดเพื่อนำไปสร้างองค์ประกอบอื่นที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. Ideate
ในขั้นตอนที่สามของกระบวนการ Design Thinking เป็นขั้นที่เราจะเริ่มนำไอเดียที่ได้มาสร้างให้เป็นรูปธรรม จากขั้นแรกที่ทำให้เราเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนขั้นที่สองเราได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จากนั้นด้วยวัตถุดิบที่เรามีอยู่ในมือ สมาชิกทีมอาจเริ่มที่จะ “คิดนอกกรอบ” เพื่อมองหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ
อาจใช้การระดมสมองสำหรับกระตุ้นให้สมาชิกทีมได้คิดอย่างอิสระและขยายขอบเขตแนวทางแก้ปัญหา จากนั้นจึงรวบรวมไอเดียที่ได้แล้วเลือกวิธีที่คิดว่าดีหรือเหมาะสมที่สุด
4. Prototype
ขั้นตอนนี้คือการสร้างผลิตภัณฑ์หรือแนวทางต้นแบบโดยลดขนาด ฟังก์ชัน หรือลดทอนรายละเอียดลง เพื่อตรวจสอบวิธีแก้ปัญหาที่พบ อาจมีการส่งต่อเพื่อทำการทดสอบทั้งภายในทีมและแผนกอื่นๆ รวมถึงการมองหากลุ่มตัวอย่างเพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้น เป้าหมายของขั้นตอนนี้ก็คือการรวบรวมข้อมูลว่าแนวคิด Design Thinking ที่เราได้ไอเดียมาและนำมาสร้างแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมดยังมีจุดบกพร่องตรงไหน หรือต้องปรับปรุงส่วนใดบ้างจึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและนำไปแก้ปัญหาได้ดีที่สุด
5. Test
ขั้นตอนสุดท้ายคือการทดสอบแนวทางแก้ไขปัญหาหรือผลิตภัณฑ์ทั้งหมดอย่างเข้มงวดอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ธรรมชาติของ Design Thinking คือความยืดหยุ่น
ถึงแม้ว่าเราจะสรุปขั้นตอนของตรรกะแนวคิด Design Thinking ว่ามีทั้งหมด 5 ขั้น แต่ความจริงแล้วธรรมชาติของการนำ Design Thinking มาปฏิบัติคือความยืดหยุ่นและกระบวนการที่ไม่เป็นเส้นตรง (Non-Linear) สมาชิกทีมอาจดำเนินการหลายขั้นตอนพร้อมกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไล่เรียงจากขั้นที่ 1 – 5 แต่อย่างใด นอกจากนี้หลังทำการทดสอบแล้ว ทีมอาจกลับไปสู่ช่วงของการระดมสมองเพื่อหาไอเดียใหม่อีกครั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและแนวทางการทำงานของแต่ละทีม
การนำ Design Thinking มาใช้ในการแก้ปัญหาช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความท้าทายได้หลากหลายขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงแกนหลักของปัญหาได้อย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดที่สุด
สนใจพัฒนาแนวคิด Design Thinking และนำมาใช้ในการทำงานอย่างมืออาชีพ พร้อมเรียนรู้เคล็ดลับ Visual Thinking จากสถาบันชั้นนำของโลก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ADGES
e-mail: marketing@adges.net หรือ 6688-028-1111 หรือเว็บไซต์ www.adges.net
Original content : https://www.interaction-design.org/literature/article/5-stages-in-the-design-thinking-process