ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ (Founder & CEO ADGES) ได้มีโอกาสเป็นผู้บรรยาย CuriousTalk59th ร่วมเดินทางส่งมอบความคิด ชาร์ทพลังบวก ผ่านประสบการณ์ใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของ Mindfulness และเทคนิคต่างๆ ในการพัฒนาสติปัญญาและความมั่นคงใจในชีวิตประจำวัน ที่จัดขึ้นโดยรายการ CuriousTalk ของ AISDataClub+
ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ ได้เริ่มจากการเล่าประวัติของตนเองซึ่ง เรียนจบวิศวะมาแต่เมื่อทำงานทำให้รู้ว่า People Skill เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นหัวหน้าที่ต้องรับผิดชอบโปรเจ็กต์ต่างๆ ทำให้อยากเรียนรู้เพิ่มเติม โดยมองว่า Leadership Skill เป็นสิ่งจำเป็นจึงเรียนต่อด้านปริญญาเอกและลาออกมุ่งมั่นกับการเรียนให้จบ จากนั้นตัดสินใจตั้งบริษัทที่ปรึกษาและเดินทางทั่วเอเชียแปซิฟิกเพราะพาร์ทเนอร์บริษัทมีจำนวนมาก โดยเอนจอยกับสิ่งที่ทำเหมือนเปิดประตูบานหนึ่งก็จะมีการเปิดประตูบานต่อไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อลงสนามได้เจอคนที่เก่งทั่วภูมิภาค การได้เดินทางและเห็นที่ต่างประเทศทำให้เราหยุดนิ่งไม่ได้ แต่สุดท้ายถามตัวเองชอบและรักในสิ่งที่ทำหรือไม่เพราะการทำบริษัทที่ปรึกษาต้องถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นแล้วต้องทำให้เขาเชื่อให้ได้ว่าเรามี Value อะไรที่เราจะไปแลกเปลี่ยนหรือพูดคุยกับเขา บางทีต้องสอนหนังสือให้ฝรั่งจากที่เราเป็นคนเอเชียและเป็นคนไทย จึงพบคำตอบว่า
“บางทีการลงสนามยากๆ บ้างก็จะทำให้เราได้แกร่งขึ้น จะเฟลหรือจะสำเร็จอย่างน้อยก็กลับมาเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเรา”
หมั่นเติมไฟให้เอนจอยกับสิ่งที่ทำ
เราต้องตั้งคำถามเรารักเราชอบอะไรทำอย่างไรให้สุดและเติมไฟให้เราเอนจอยกับสิ่งที่เราทำ แม้ช่วงที่ยากลำบากที่ผ่านมาตอนโควิด-19 งานหลักไม่ได้เยอะ แต่มีงานการกุศลมากมาย และได้รับโอกาสจากวงการธุรกิจทำอีเวนท์หรือการแชร์เรื่องการทรานฟอร์มธุรกิจ หรือภาวการณ์เป็นผู้นำในสถานการณ์นั้น ที่พบว่า “อะไรดีก็ทำ” ตั้งแต่ร่วมมือกับ IOD แลกเปลี่ยนพูดคุยเพราะอยากให้คนไทยสามารถแข่งขันได้ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยที่ทำแพลตฟอร์ม ห่วงใย Thai Business โดยสมาชิกบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทต่างๆ อยากรู้เรื่องอะไรก็จะเดินสายคุยกับผู้นำองค์กรต่างๆ มากมาย
ADGES มี 4 ธุรกิจ คือ
- 1. เป็นบริษัทที่ปรึกษา จากที่เคยทำงาน Accenture มองว่าชอบความท้าทายและชอบการแก้ไขปัญหา จึงเน้นไปทางด้านกลุ่มผู้นำ HR และ Culture Transformation
- 2. Academy Learning and Development สำหรับผู้นำ Soft Skill การพัฒนาทักษะทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีชอบ Visual Thinking ที่ไปนำSpeaker มาพูดให้ฟังในเมืองไทย
- 3. การประเมิน Assessment เพื่อช่วยในการประเมินตัวตนเราเป็นอย่างไรบ้างในหลากหลายมิติ เช่น นำทฤษฎีสมองมาใช้ในการอธิบายเหมือนกันแต่มีความเข้าใจแตกต่างกัน เพราะสมองเป็นบ้านและแต่ละคนชอบแตกต่างกัน เมื่อประเมินแล้วก็จะสามารถนำเสนอได้ตรงจุดที่ต้องการ และ
- 4. Coach โดยทำงานร่วมกัน Business School จากสวิตเซอร์แลนด์ และวิทยาลัยการจัดการของมหิดล รวมทั้งการทำเรื่องการอยู่กับสภาวะปัจจุบัน Mindfulness เพราะปัจจุบันคนมีความทุกข์มาก ทั้งจากการทำงานหรือเรื่องต่างๆ และทำให้เข้าใจว่า
“อย่าเพิ่งไปตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำมากนัก อยากทำอะไรทำเลย อย่างน้อยก็เจ๊งและไม่มีอะไรจะเสีย ส่วนตัวไม่อยากไม่ได้ทำ แต่ถ้าทำไม่ดีก็เลิก ส่วนถ้าทำแล้วดีก็ทำต่อ”
เที่ยวแบบสบาย
ปกติเวลาไปเที่ยวชอบพกกล้องถ่ายรูปไปด้วย เริ่มต้นจากไปเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้เจอธรรมชาติที่สวยงาม บรรยากาศสงบ และชอบถ่ายรูปโดยเฉพาะรูปขาวดำ แบบ Landscape Photography แม้เรียนจบก็ยังถ่ายต่อโดยชอบไปและถ่ายรูปที่ไม่เคยไปเพราะคิดว่าวันหนึ่งอาจจะไม่สวยงามเหมือนก่อน หรือเวลาไปทำงานทำเวิร์กช็อปก็มักติดขาตั้งกล้องไปด้วย แล้วมักเดินทางล่วงหน้าหรือกลับหลังจากงาน 1 วัน
นอกจากนั้นชอบเล่นกีฬาที่สะท้อนความเป็นตัวตน ชอบปั่นจักรยานทุกที่ที่ไปถ้าไปไหนที่สามารถขนจักรยานไปได้ก็จะเอาไป ชอบเล่นไตรกีฬา วิ่งมาราธอนหรือปีนเขา แต่ไม่ได้เน้นลำดับหรือระยะเวลาที่จบ แต่เน้นจบไม่ล้มเลิกลางคันซึ่งจะสะท้อนความเป็นตัวตนเราได้อย่างดี เหมือนเวลาทำธุรกิจที่อาจจะทำแล้วพังไม่สำเร็จแต่ก็ไม่ล้มเลิกไปง่ายๆ เก่งไม่เก่งไม่รู้แต่ขอให้ได้ทำก่อน เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ไตรกีฬา เพราะอยากรู้ว่าตัวเราเอนจอยหรือเปล่า
“ไม่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองเยอะ อยากลองก็ลอง อย่าไปกดดันมาก”
จุดเริ่มต้นการเดินป่า และ Mindfulness Leadership Journey
ปกติเป็นคนที่อยากทำอะไรแล้วมีความตั้งใจทำจริงๆ เพราะอยากจะรู้ เมื่อก่อนไม่ทุกข์ ทำงาน ได้เงินไปเที่ยว แต่พอมีลูกสาวตอนอายุ 6 เดือน ป่วย เขาบอกว่าหากเด็กตัวร้อนเกิน 40 องศาจะช็อกได้ เรารักลูกจึงได้สัมผัสความทุกข์เต็มๆ จึงพยายามหาวิธีการรับมือและทำให้เข้าวงการธรรมมะ จากที่เคยบวชก่อนไปเรียนต่อโดยไม่ได้สนใจรายละเอียดมาก จนกระทั่งได้เจอพระอาจารย์นวลจันทร์รู้สึกว่าท่านมีวิธีการนำเสนอธรรมะตรงจริตเรา เพราะท่านเองก็ไม่อยากเป็นพระที่ต้องมาบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ท่านทำอะไรก็ดูไปแล้วไปทำต่อ พอเห็นเราศรัทธาและจึงชวนบวชแต่ช่วงนั้นทำงานอยู่ที่ BMW และหัวหน้างานบอกควรไปทำงานที่มิวนิคเพราะจะเป็นโอกาสเติบโตที่ดี แต่ตอนนั้นผู้ใหญ่ที่บ้านก็ไม่สบาย ลูกก็ยังเล็กไปไม่ได้ ซึ่งบางองค์กรการปฏิเสธก็อาจจะดูไม่ดีจึงตัดสินใจบวชเลย
ตอนบวช มีความรู้สึกนิ่งสงบได้อยู่กับตัวเอง และมีพระที่บวชด้วยกันคือน้องอิท ซึ่งเดิมเขาเป็นนักโทษที่มีคดีถึงขั้นประหารชีวิต จากคดีจ้างวานฆ่าแต่เขาก็ชนะและหลุดคดีเพราะไม่มีมูล และเคยออกรายการเจาะใจ นักโทษมาเป็นนักธรรม เราชอบในนิสัยใจคอเหมือนกัน และน้องได้ไปตั้งบ้านธรรมทานที่พิษณุโลกเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก ชวนไปปฏิบัติธรรมแบบการเดินป่า เมื่อน้องชวนหลายรอบเลยไปทดสอบดู ก่อนไปคิดอยู่นานมากว่าจะไหวหรือเปล่า เชื่อว่าหลายคนอยากเดินป่า แต่ประเด็นเดียวคือกลัวเรื่องเข้าห้องน้ำเข้าที่ไหน ซึ่งทำให้เห็นว่ามีกลุ่มคนชอบปฏิบัติธรรมแบบการเดินป่า และก็เห็นจากพระสายปฏิบัติที่ปฏิบัติคือการเข้าป่า
ตั้งคำถามก่อนเข้าป่า
“เราไปทำไม อยากจะเอาอะไร”
ต้องตั้งคำถามก่อนว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญหรือจำเป็นสำหรับเราก่อน คำถามแรกคือการจัดกระเป๋าอย่าไร และได้กลายเป็นบทเรียนบทแรกเนื่องจากต้องอยู่กับเขาหนักๆ ไปอีกนาน บางอย่างสำคัญกับไม่สำคัญ เห็นภาพชัดเจนบางอย่างเอาไปไม่ได้ใช้เลย ของจำเป็นมีต้องใช้ครีมกันแมลง มีด หรือแม้ขนาดกล่องกินข้าวยังเอาไปผิด เพราะใหญ่เกินล้างลำบากและเสียงดังเวลาเดิน สุดท้ายเลือกเพียงกระป๋องสแตนเลน เพราะล้างง่ายแล้วกินกาแฟต่อได้เลย ครั้งแรกขนขาตั้งไอโฟนไปปรากฎไม่ได้ใช้เพราะเดินกัน 7-8 ชม. พอถึงจุดพักก็สลบกันแล้ว หรือมีคนแนะนำให้พกชุดไปเผื่อเพียงชุดเดียว เราเองคิดว่าไม่ไหวน่าจะคัน สุดท้ายจริงๆ เส้นทางการเดินเจอลำธารตลอด ได้อาบน้ำ ซักผ้าและผึ่งให้พอแห้ง สรุปถ้าขนของใส่กระเป๋าเยอะจะทำให้หนักเกินไปแล้วหมดสนุกไม่เอนจอยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
ทำให้พบว่าเพียงแค่จัดกระเป๋าจะเห็นความเยอะของตัวเอง ซึ่งเมื่อเราเข้าใจความเยอะในตัวเรา เราจะกลายเป็นความธรรมดาและมีความง่ายเข้ามาทันที รอบหลังๆ ทำให้รู้เลยว่าอะไรเป็นส่วนเกินสำหรับชีวิต และอะไรคือสิ่งจำเป็นที่ต้องรู้จักดูแลตัวเองให้ได้โดยถือคติพกให้น้อยและต้องได้ใช้ เช่น ที่กรองน้ำแบบพกพาคอยเติมน้ำจากลำธาร อาหารตามความชอบ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกาแฟซอง เจลทาเวลาเป็นตะคริว เอเนอร์จี้บาร์ และที่สำคัญคือสิ่งที่พกไปอะไรที่เป็นพลาสติกต้องนำกลับมาให้หมด
หรือมีครั้งหนึ่งที่ชวนลูกชายอายุ 13 ปี ไปด้วยกัน เพราะความที่กลัวลูกลำบากเลยเอาของลูกมาไว้กับเรา ปรากฏตัวเราเองกลับไม่เอนจอยเพราะของที่หลังหนักจนเป็นตะคริว ครั้งนั้นทำให้เรียนรู้ว่า
“บางทีเราต้องประเมินตัวเองด้วย เพราะบางครั้งอยากช่วยคนอื่นแต่ตัวเองไม่รอด” รวมถึง “บางทีเราอย่าไปแย่งซีนใครรวมถึงเพื่อนร่วมงาน เพราะบางครั้งการที่เราคิดเผื่อเขา ทั้งๆ ที่เขามีศักยภาพ เราต้องส่งซีนให้เขาได้ดึงความเป็นฮีโร่ในตัวเขาออกมา เหมือนกับที่ครั้งนั้นกลายเป็นว่าลูกกลับดูแลพ่อ”
Start with why? จึงสำคัญ
เวลาไปเที่ยวจะเริ่มตั้งคำถาม ทำอะไร เราจะเอาอะไรจากการไปเดินป่าครั้งนี้ เพราะจากที่ไม่เคยเดินมาก่อนจะทำให้ไม่แน่ใจของจริงจะโหดหรือไม่ วันแรกมีเพื่อนคนหนึ่งข้อมือหัก อีกคนหนึ่งขาเอ็นอักเสบต้องหาเปลหาม ทำให้เรารู้แล้วว่าเราไม่ได้เดินเล่นตามสวนสาธารณะ นี่คือของจริง ดังนั้นถ้าไม่ได้ดูแลตัวเองก็จะเจ็บหนักพอสมควร และทำให้ได้เห็นหลายคนเริ่มมีการงอแง เริ่มถามถึงว่ามีทางออกระหว่างทางหรือไม่เผอิญติดธุระ ตอนนี้เราต้องถามตัวเองว่า อะไรคือ Why ของเรา เพราะการรู้ว่า “ทำทำไม” จะทำให้ทำอย่างมี Passion และใจรัก เราต้องหา Passion กับ Purpose ให้เจอ โดยต้องมองให้ออกว่า Passion Level อยู่ในระดับไหน สูง กลาง หรือต่ำ หรือจากกิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ถ้าต่ำ ต้องดูว่ามีอะไรที่ทำให้กลับมาทำให้เรารู้สึกดีและอยู่ในระดับสูงได้ หรืออะไรในชีวิตเราที่หายไป เพราะเราจริงจังกับการทำงานมากไปหรือเปล่า จนเสียสมดุล อยากทำกิจกรรมมากมายแต่สุดท้ายทำไมไม่เชี่ยวชาญหรือไม่ถนัดเลย พอไม่สำเร็จสักอย่างแล้วไปโทษตัวเอง
Passion เป็นเรื่องของตัวเรา Purpose เป็นเรื่องของคนอื่น
เราต้องรู้ว่าปัจจุบันกำลังแฮปปี้หรือไม่กับสิ่งที่กำลังทำให้กับโลกนี้ แล้วลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า Purpose ที่เราส่งต่อให้ตัวเองมันอยู่ในระดับไหน สูง กลาง หรือต่ำ ถ้าตอนนี้เราคิดถึงตัวเราเอง เราเก็บไว้ข้างใน แล้วชีวิตที่เรามีความสุขเป็นอย่างไร ซึ่งก็ควรเอนจอยกับสิ่งที่เรามีความสุขกับปัจจุบัน หรือถ้าเพื่อผู้อื่นได้ทำให้ชีวิตคนอื่นมีความสุขอย่างไร
“ถ้าพอได้วัดแล้วว่าเรากำลังอยู่ในระดับสูงทั้ง Passion และ Purpose เท่ากับเรากำลังอยู่กับสิ่งที่เรามีความสุขมากที่สุด แต่ถ้าอยู่ในระดับต่ำอาจเพราะชีวิตเราบอกว่า เพราะคนอื่นหรือเพราะเพื่อน ซึ่งชีวิตเราต้องไม่เป็นเหยื่อ เราต้องหาวิธีที่จะทำให้เรารู้สึกอยู่ในระดับสูงทั้งคู่ ซึ่งมีแต่ตัวเราเองทั้งนั้นที่จะตอบได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องลองเริ่มตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรากัน”
อย่างตอนเดินป่ามีคนส่งข้อความมาแสดงความห่วงใยตลอด เลยบอกว่าไม่เป็นไร อย่างน้อยก็หกล้มบ้าง เพราะเรามาเพื่ออยากลอง ขอบคุณทุกความเป็นห่วง และอาจจะรู้สึกแย่ไปกว่าการหกล้มจากการเดินป่านั่นคือ “การไม่ได้ลอง” เพราะคิดว่าแก่และโตป่านนี้น่าจะพอได้ ซึ่งก็คล้ายกับการใช้ชีวิต ตรงที่บางทีการเป็นหัวหน้าหรือการเป็นพ่อแม่ก็ควรเปิดและปล่อยพื้นที่ให้กับพนักงานหรือลูกบ้าง เพราะการล้มเหลวไม่ได้แย่จนกว่าไม่ได้ลอง และบางทีเราอาจทำร้ายกับโซนปลอดภัยเรา ดังนั้นต้องปล่อยให้เขาได้เผชิญกับโลกเมื่อได้เห็นเขาก็จะโตขึ้น ประกอบกับเวลาเดินป่าเหมือนกับเราได้อยู่กับตัวเองและต้องอยู่ให้ได้ เพราะเวลาเดินหนทางไม่ได้สะดวกสบาย เดินก้อนหินก้อนใหญ่ มีท้องน้ำ ก้อนใหญ่ ต้องระวังเจอตะไคร้เกาะ หินมันโยกเยก หรือเวลาไปเหยียบหินกลมๆ ต้องรู้จักปรับตัวเกร็งเท้า
Right Here Right Now
ครั้งแรกที่ไปแม้จะตอบตัวเองได้ว่ามาเพื่ออะไร แต่พอได้ไปอยู่ในสถานการณ์นั้นโดยที่ไม่มีใครบังคับเดินเขา 7-8 ชั่วโมงจากการแบกเป้บนหลังตลอดวันเกือบ 10 กิโลกรัม ไม่มีใครช่วยเราได้ ทั้งร้อนและเหนื่อย จนน้องอิทถามว่าสวยมั้ยครับ ก็ถึงกับงงว่า พูดถึงอะไร อะไรสวย หมายถึงวิวสวยมั้ยครับ เลยทำให้รู้ว่า เราไปไม่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะเลย พอไม่อยู่กับปัจจุบันมันก็เปิดช่องทางที่จะทำให้เรามีความทุกข์ได้ตลอดเวลา เอาแต่เดินอย่างเดียว และใจไปอยู่กับอนาคตที่คิดว่าจะถึงที่หมายตอนไหน ตั้งเต็นท์ตรงไหน รู้สึกระอายใจมาก ที่มาเดินป่าเพื่อที่จะสอนว่าให้เราอยู่กับสภาวะปัจจุบัน แต่ปรากฎว่าดันไปคิดแต่อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร พอตระหนักได้ เลยทำให้เห็นทิวเขาที่พระอาทิตย์กำลังจะตกสวยงามมาก และตอนนั้นเป็นจังหวะที่สวยที่สุด แบบ Right here right now
“หากเปรียบเทียบกับการทำงานที่หากเราไม่ได้มีความสุขกับการทำงานในปัจจุบันแบบมนุษย์เงินเดือนก็จะมีทั้งวันที่ดีและแย่ อย่าไปรอว่าฉันจะแฮปปี้เมื่อไร ไปรอจนเกษียณเลยหรือเปล่า”
ต้องเปลี่ยนวิธีการมองว่า ความสุขแบบ Right here Right now มันมีอยู่จริง เพียงแค่มองมุมการใช้ชีวิตแบบใหม่ก็สามารถมีความสุขได้แล้ว จึงอยากชวนมองว่าเรามีโอกาสแล้ว แต่เราได้วางใจให้ตรงกับสิ่งนั้นแล้วหรือยัง
ธรรมชาติล้วนมีที่มาที่ไป
เมื่อใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้นทำให้เห็นว่าธรรมชาติล้วนมีที่มาที่ไป เพราะในป่าจะทำให้เริ่มได้ยิ่งเสียงน้ำไหล เสียงนก หรือเสียงของใบไม้ ทำให้เห็นได้ชัดว่าเสียงธรรมชาติย่อมมีที่มาที่ไปและเกิดความพอดี ซึ่งต่างจากเสียงในเมืองที่มีเกินความจำเป็น เสียงรถ เสียงการก่อสร้าง การเดินป่าทำให้เรารู้จักเอาความงามของความง่ายที่เราอยู่ในสถานการณ์มาใช้ เพราะเมื่อทุกจุดที่ทุกคนพัก ทุกคนจะเป็นอิสระต่อกัน หาที่นอนของตัวเอง อยากลงมาอาบน้ำก็มาอาบตรงลำธาร กินข้าวเสร็จจะนอนหรือจะเดินจงกรม ตื่นเช้ามาภาวนาหรือสวดมนต์ ทำกิจตอนเช้าแต่ละคน เก็บเต๊นท์เดินทางต่อ ซึ่งแต่ละคนสามารถจัดสรรตามสไตล์ อยู่ง่ายกินง่าย นั่งภาวนาง่ายๆ หรือจะแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่าวันนี้เจออะไรเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งแรกๆ เราจะรู้เลยว่าเราไม่ค่อยเมตตาต่อผู้อื่น เพราะกลัวไปถึงจุดกางเต๊นท์ช้า เนื่องจากบางคนเดินช้า บางคนหกล้ม บางคนต้องการคนช่วยพยุงกัน ช่วยถือของ สุดท้ายทำให้เห็นว่าเราจะเอาตัวรอดคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกัน หรือเห็นระยะห่างจากเพื่อนคนอื่นก็นั่งรอเพื่อที่จะได้เดินทางไปถึงพร้อมๆ กัน
ทำให้รู้ว่าชีวิตมันง่ายมาก
ปกติใช้เวลาเดินป่า 3 คืน 4 วัน โดยเปลี่ยนที่นอนทุกวันและใช้เวลาเดินวันละ 7-8 ชั่วโมง เน้นเดินอยู่กับตัวเอง แรกๆ คิดทำไมต้องเดินนานขนาดนั้นต่อวัน แต่เชื่อว่าถ้าทำอย่างนั้นจิตจะฟุ้งซ่านหรือนั่งเมาท์กัน สิ่งที่ค้นพบคือ “ถ้าทำได้จะทำให้รู้ว่าชีวิตมันง่ายมาก” การทำธุระหนักเบาแต่ละคนตอนแรกก็จะเขินกัน ตอนหลังก็คือเรื่องธรรมชาติที่หายไปเข้าใจว่าไปทำอะไร แต่ถ้านานไปก็ต้องไปตาม ก็เอามาใช้ได้เวลาต้องไปทำงานต่างประเทศเมื่อก่อนจะบอกว่าห้องแบบนี้อยู่ไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้นอนได้หมด
ต้องถามตัวเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน
และสิ่งที่หนึ่งได้จากการเดินป่า คือ ความเป็นธรรมชาติและความจริงใจจากคนในกลุ่มที่เดินทางร่วมกัน ซึ่งมีจำนวนไม่เยอะ และทุกคนก็มีความง่ายๆ จริงใจ ไม่ต้องสวมหมวกอะไร ไม่มีเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน สามารถขำหัวเราะด้วยกันในเรื่องง่ายๆ พอได้สัมผัสประทับใจ น่ารัก ใสๆ และมีการช่วยเหลือกันตลอดเวลา ทั้งที่ความจริงบางคนเป็นคุณหมอและมี Status อยู่ในสังคม แต่เราไม่ได้เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นประเด็นในการหารือ มีความสุขกับเรื่องง่ายๆ คุยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและนี่แหละคือเพื่อนกลุ่มที่เราอยากมีอยู่ใน Friend List โดยเราต้องเปิดใจและถามตัวเองว่าสุดท้ายแล้วเราอยากอยู่ในสังคมแบบไหน
องค์ประกอบของการ Transformation ที่จะสำเร็จในป่าคอนกรีต
Transformation ต้องเริ่มจาก “เป้าประสงค์” ที่มีร่วมกันก่อนว่าคืออะไร เพราะหากเริ่มจากเปลี่ยนกระบวนการก่อน หรือเปลี่ยนนโยบายก่อน คนในองค์กรก็จะไม่เห็นและไม่เข้าใจว่าเป้าหมายคืออะไร เทียบกับการเดินป่า Start with why ที่ความจริงก็ อยู่ กทม. ไปเดินห้างสรรพสินค้าชั้นนำก็ได้ และเป็นกิจวัตรที่ทำมาต่อเนื่องอยู่แล้ว แล้วทำไมไม่พาตัวเองออกไปเจอหรือเห็นสิ่งใหม่ๆ เพื่อรับประสบการณ์ใหม่ น้องที่ชวนรู้จักจริตเราเผื่อจะได้เห็นอะไรใหม่ ดังนั้นก่อนที่จะTransformation ต้องเริ่มจากถามว่าเราเปิดใจกันแล้วหรือยัง ไม่ใช่มีเพียงคำว่าแต่ เพราะหลังจากที่ผ่านเหตุการณ์โควิด-19 มาได้ทำให้เห็นว่าคนเราไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและพร้อมจะต่อสู้จริงจัง แต่ประเด็นคือ เรากำลังต่อสู้กับอะไร มีความอินกับมัน หรือองค์กร ผู้บริหารอาจจะอิน แต่เราไม่อินเพราะอาจกำลังรู้สึกว่ากำลังเป็นเหยื่อของการ Transformation หรือเปล่า จึงจำเป็นต้องตั้งเป้าประสงค์ขึ้นมา
สำหรับจุดที่เรากำลังทำงานอยู่ บางครั้งผลที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ชัดเท่ากับการเล่นกีฬาที่เห็นผลแพ้ชนะในเกมไปเลย เพราะทุกคนเห็นภาพชัดเจน แต่ภาพขององค์กรบางครั้งอาจติดหล่มหลายปัจจัย เนื่องจากคนไม่เห็นเป้าหมายปลายทางคืออะไร จะ Goal หรือจะวิน Win อย่างไร ดังนั้นควรมีการกำหนดเป้าประสงค์ออกมาให้ชัดเจนว่า เพื่อบริหาร เพื่อลูกค้า หรือเพื่อพนักงาน
เรื่อง People ถ้าไม่ใช่ แล้วจะทำอย่างไรให้มันใช่ หรือปัจจุบันใช่แต่อนาคตจะใช่หรือเปล่า หรือเรากำลังให้น้ำหนักกับอนาคตมากกว่าปัจจุบันหรือเปล่า จริงอยู่หลายองค์กรต้องการทั้งมือซ้ายและมือขวา มือขวาเป็นการ Transform แต่มือซ้ายคือการ Perform ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ต้องไปด้วยกันองค์กรถึงอยู่ได้ โดยองค์กรชั้นนำทุกแห่งจะมองเหมือนกันตรงที่จะทำต้องทำอย่างไรให้คนที่ทำ Perform ต้องทำมาร์เก็ตทำอย่างไรและต้องมีความพร้อมต่อโลกในอนาคตด้วย โดยที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นคือ ต้องทำไปด้วยกันพร้อมกัน Process
หรือในเรื่องดิจิทัลได้พัฒนากระบวนการเพื่อเปิดโอกาสให้นำเรื่องเทคโนโลยีได้เข้าไปใช้ในกระบวนการทำงานหรือไม่ เหมือนที่ตอนนี้ AI ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีอยู่รอบโลกแล้ว ไม่ใช่กลัว Chat GPT คำถามคือเราจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยการทำงานได้อย่างไร เมื่อก่อนโลกคือคอนเทนท์ แต่ต้องนี้คือทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ได้เอง
สิ่งสำคัญคือ ถ้าเห็น Value เราจะไม่ต่อต้านการ Transformation โดยจะต้องมีกระบวนการส่งผลทั้งคนและทำให้โลกดีขึ้นที่ตอนนี้ทุกคนก็มุ่งหน้าสู่เป็นองค์กร Green แล้วสุดท้ายองค์กรก็จะสามารถอยู่ได้เพราะสามารถทำกำไร และช่วยตอบแทนสังคม สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศ และช่วยดึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ดีขึ้น
“เริ่มจากเป้าประสงค์และทำให้ทุกคนพร้อมที่จะไปสู่อนาคตด้วยกัน การ Transformation ที่ทุกคนไม่อยากไปด้วยแสดงว่าต้องมีอะไรที่เกิดขึ้น เช่น การสื่อสารไม่ดีพอ และสุดท้ายก็ต้องยอมรับเพื่อส่งบอลต่อไป ถ้าบอลหายหรือคนในทีมไม่ Perform ก็ต้องหาทีมอื่นหรือเปล่า เพราะอย่างไรองค์กรก็ต้องทำรายได้เพื่อให้มีกำไรต่อไป
Passion ส่วนตัวเราคืออะไร แล้วก็คงอยากให้ทุกคนเขาเชื่อในการทำงานหรือตัวเรา คงไม่อยากอยู่ในระบบที่เราไม่สามารถ Perform ได้ ซึ่งมันอาจมีระบบนิเวศอื่นที่พอเราไปเชื่อมต่อปลั๊กอินก็จะเข้ากับ Passion เราได้ สังเกตจากตื่นเช้ามาเรายังตื่นเต้นกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่หรือไม่ หรือเรากำลังกลัวกับอะไรหรือเปล่า ซึ่งในบางครั้งถ้าเรากำลังกลัวกับสิ่งไหนเราก็ต้องพยายามเข้าไปอยู่กับสิ่งนั้น เพื่อดูว่ามีโลกที่ดีสำหรับเราอยู่หรือเปล่า และไปเติบโตในระบบนิเวศนั้น เพราะในความเป็นจริง บริษัทไม่อาจเป็นบริษัทสำหรับทุกคนได้ แต่เราต้องพยายามบอกว่าเรามี Value อะไรบ้าง ในวันหนึ่งเราอาจมีสิ่งที่ยึดถือร่วมกันแต่ถ้าวันหนึ่งไม่ใช่แล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ไปรับโอกาสและประสบการณ์ใหม่ๆ
อย่ามองเรื่อง Transformation เป็นแค่ Event
ต้องมองว่าเรื่อง Transformation เป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตาย เป็น Journey ที่เราต้องวางใจกับมันเหมือนเป็นวัฒนธรรมที่เราต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับมันเสมอ ผมเรียนทางวิศวะมาก็ต้องมาสัมภาษณ์ผู้บริหาร มาทำความเข้าใจเรื่อง Visual มาเรียนรู้เรื่องทักษะต่างๆ ทีหลัง แต่สิ่งที่ได้จากการเรียนวิศวะคือหลักการใช้เหตุผล Logic และความกล้าที่จะเข้าใจตัวเองและลองสิ่งใหม่เพื่อดูว่าสเตปถัดไปของเราจะเป็นอย่างไร
เหมือนเรื่องการเตรียมกระเป๋าเดินป่า 7 กิโลกรัมก็เต็มที่แล้วเราจะใส่อะไรเข้าไปบ้าง เต็นท์ ถุงนอน ที่เหลือคืออาหาร เพราะหลายสิ่งมันอาจจะไม่จำเป็นในกระเป๋าเลย
“หลายคนชอบเรียนรู้ เรียนแต่ไม่ได้ใช้ แต่ทักษะที่ต้องใช้กลับปฏิเสธที่เรียนรู้เพราะรู้สึกยาก หรือเฟลกับมันแล้วก็ไม่กล้าลองทำกับมันอีกครั้ง”
สิ่งที่เราเห็นความแตกต่างการทำงานคนไทยกับคนต่างประเทศมี 2 เรื่องเกี่ยวกับ Distraction
- 1.คนไทยทำอะไรก็จะเล่นโซเชียลมีเดียไปด้วย ซึ่งต่างจากคนอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เรียนเขาคือเรียนจริงจัง เวลาไปสอนที่ส่วนใหญ่เป็นระดับผู้บริหารถ้าภายในครึ่งชั่วโมงเราสอนไม่รู้เรื่องเขาจะเดินออกทันที เพราะผู้บริหารต้องบริหารเวลาให้มีค่า
- 2.คนต่างประเทศจะให้ Feedback ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะจะทำให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น เวลาสอนถ้าพูดไม่รู้เรื่อง พูดเร็ว ช้า พูดไม่เคลียร์จะ Feedback กลับมายังวิทยากรทันที ซึ่งทำให้สามารถนำมาแก้ไขและพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น
“ถ้าเราลงสนามอินเตอร์เราต้องเล่นอินเตอร์ เราต้องเข้าใจว่าการวิจารณ์หรือ Feedback ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้กลับมาพัฒนาต่อได้ และสุดท้ายเขาจะให้ของขวัญเรา อย่าไปรู้สึกว่าอยากได้แต่ดอกไม้ ไม่อยากได้ก้อนหิน แต่ความจริงก้อนหินก็ยังสามารถเอามาสร้างบ้านและเป็นประโยชน์ได้ด้วย ดังนั้นอย่าไปกลัว Feedback เพราะความจริงคนเก่งๆ เขาก็ย่อมผ่านสนามยากๆ มาก่อนอยู่แล้ว Feedback จึงทำให้เขาเก่งและแข็งแรงขึ้น”
Mindfulness
คือการอยู่ในสภาวะปัจจุบัน อย่าไปคิดว่ามันคือธรรมมะที่จะชวนเข้าวัด คำว่า Mindfulness มาฮิตเพราะองค์กร Tech เอาไปใช้เยอะ ทั้งที่ความจริง Pain point คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากทำงาน สภาพแวดล้อม อย่างโควิด-19ที่ผ่านมา ตอนแรกเจอกับความตายง่ายมาก ครั้งนั้นทำให้หลายคนกลับมาตั้งคำถามมากขึ้นว่า อะไรคือเป้าประสงค์ของชีวิตเรา หรือทำให้กลับมาดูว่าความทุกข์ที่เรามีนั้นสามารถจัดสรรหรือบริหารจัดการกับมันได้หรือไม่
สำหรับการตั้งเป็นองค์กรรมณีย์ (Mindfulness Organization) เนื่องด้วย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศได้ โดยอีกด้านหนึ่งเป็นประธานมูลนิธิสวนโมกข์กรุงเทพมหานคร ได้รับโจทย์จากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่อยากให้ช่วยกลุ่มคนที่มีความทุกข์เยอะแต่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึง นั่นคือ “พนักงานในองค์กร” ว่าจะสามารถทำอะไรหรือช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้บ้าง ประกอบกับส่วนตัวสนใจในธรรมะอยู่แล้ว จึงได้มาช่วยวางโปรแกรมและเป็นวิทยากรในการอบรมที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ การนำเรื่องการอยู่ในสภาวะปัจจุบันและตั้งใจสร้างระบบนิเวศ Psychological Safety ให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยเริ่มจากการชวนผู้บริหารมาตั้งคำถามว่าเรารู้จักตัวเอง หรือมีความตระหนักรู้หรือ Self Awareness กับตัวเราเองแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วเราจะมองว่าคนอื่นนั้นมีความต่างหรือมีความเหมือนกับเรา โดยที่เราอย่าได้มองความต่างเป็นเรื่องลบ หรือต้องคิดลบเมื่อมีคนมองไม่เหมือนเรา
โดยเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดความเมตตาจากจุดเล็กๆ ในตัวเรา กับหัวหน้า หรือขยายไปเป็นระดับองค์กร เพราะต้องขึ้นกับแรงจูงใจของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน อย่างตัวเราก็อยากกลับบ้านตามเวลาเลิกงานไปอยู่กับคนที่เรารัก ก็ต้องเริ่มคุยเรื่องนี้กับน้องๆ ในทีมว่าเป้าประสงค์เราคืออะไร
หลายครั้งที่ Purpose กับ Passion บางคนยอมจำนงเพราะเมื่อประเมินแล้วอยู่ในระดับต่ำทั้งสองอย่าง บางคน Purpose อยู่ในระดับต่ำแต่ Passion สูง หรือบางคนชอบเล่นโซเชียลมีเดียมากจึงมี Passion มากแต่ไม่ได้สร้างความหมายหรือสาระอะไรให้เกิดขึ้นเลย ขณะที่บางคน Purpose สูงแต่ Passion ต่ำเหมือนเกิดมาเพื่อหน้าที่แบกองค์กรเอาไว้ แล้วพอรู้สึกไม่ไหวแล้วก็หมดไฟลาออกจากงานไปทำงานอาชีพอื่น เช่น ไปขายของออนไลน์ ดังนั้นต้องหาวิธีปรับระดับให้ Purpose กับ Passion อยู่ในระดับที่สูงให้ได้หรือที่เรียกว่าโซนฉันทะ ถ้าทำได้ก็จะมีหนทางไปได้ ที่ผ่านมามีการคุยเรื่องเป้าหมายหรือความสำเร็จชีวิตของแต่และคน โดย Mindfulness Compass ไม่ใช่เข็มทิศชีวิต แต่เป็นเข็มทิศของผู้นำรมณีย์
โดยจะมีการบอกทิศตะวันออกเป็นเรื่องของตัวเอง ทิศใต้เรื่องของ Value และ Motivation ทิศเหนือเป็นเรื่องของเป้าประสงค์ ทิศตะวันตกเป็นเรื่องความสำเร็จที่ดูว่าใกล้ถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง จากนั้นจะนำทั้งหมดมาเรียงร้อยกันเป็นโปรแกรม 3 วันที่สวนโมกข์กรุงเทพ อีกทั้งได้นำโปรแกรมนี้ไปใช้ที่เสถียรธรรมสถานกับเด็กอายุ 10-18 ขวบ ซึ่งเด็กๆ เขาใสสอนให้เขาได้รู้จักตัวเขาเอง เขาก็บอกว่าให้รู้จักเขาในแบบตัวตนเขาได้มั้ย อย่าไปคาดหวังอะไรในตัวเขา เราบอกได้สิเพราะเด็กเขาก็มีของที่ดีพอที่ทุกคนสามารถรักเขาในเวอร์ชั่นที่ตัวเขาเป็น โดยไม่จำเป็นต้องฝืนที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้สึกแฮปปี้ ซึ่งพ่อแม่ต่างหากที่ต้องไม่ต้องคาดหวังกับเด็ก
หรืออย่างกรณีแม่ชีศันสนีย์ที่แม่ท่านป่วยเป็นระยะที่ 3 อยู่แล้ว แต่พอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา ท่านก็พยายามพลิกฟื้นพื้นที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อให้เป็นหลุมหลบภัยทางจิตวิญญาณ ทำให้หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุทำให้มะเร็งท่านกำเริบเพราะท่านทุ่มเทกับที่แก่งกระจานมาก แต่เพราะท่านไม่รู้สึกเสียดายที่จะทำให้เพื่อคนอื่น ดังนั้นไม่มีใครผิดเพราะทุกคนต่างตั้งต้นจากเป้าประสงค์ของตัวเอง แต่อย่าไปคิดถึงเป้าประสงค์ที่ไม่สามารถส่งไม้ต่อให้คนอื่นได้ เพราะความจริงเราสามารถเริ่มทำจากระบบนิเวศที่เราอยู่ก่อน โดยเริ่มกับเพื่อนๆ น้องๆ ที่ร่วมทำงานในองค์กร ว่าในอนาคตจะสามารถส่งต่อได้มั้ยเพราะถึงจุดหนึ่งต้องมีวันที่เราจะต่างแยกย้าย ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ วันนี้เราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง วันนี้ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าถึงวันนี้เราสามารถทำให้ Purpose กับ Passion อยู่ในระดับที่สูงแล้วหรือยัง รวมทั้งมีการ Perform ได้ดีที่สุดแล้วหรือเปล่า