มีการเปรียบว่าการเลือกเส้นทางอาชีพของคนเรานั้นเหมือนซื้อหวย แต่อาจจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกนักเพราะการถูกหวยดูเหมือนว่าจะมีผู้ดีใจอยู่ฝ่ายเดียว แต่แท้จริงแล้วการทำงาน การสร้างเส้นทางอาชีพ ควรจะเป็นแนวคิดแบบ Win Win มากกว่านั้นก็คือ หนึ่งพนักงาน Win นั้นคือได้ทำงานที่ดี มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี รวมถึงการที่มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี แต่ที่สำคัญที่สุดแต่หลายที่จะถูกมองข้ามนั้นก็คือ ได้มอบโอกาสในการทำงาน สร้างประสบการณ์รวมถึงได้ทำงานที่สามารถ Jump Start อาชีพเราได้เลย เปรียบเหมือนกับนักแสดง No Name ที่ไม่เคยได้รับบทสำคัญใน Production ใหญ่ แต่เมื่อได้โอกาสที่ได้ลงเวทีใหญ่ ที่มีคนดูมากๆ รวมถึงบทหนังที่ส่ง อาจจะสามารถพลิกเส้นทางอาชีพของตนเองได้เลยชั่วข้ามคืน
แต่ขณะเดียวกันพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจที่จะมา ‘เอา’ จากองค์กรแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มองถึงว่าการทำงานที่ดีองค์กรจะต้อง Win ด้วย เมื่อรับพนักงานเข้ามาใหม่ ทั้งพนักงานและองค์กรก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ องค์กรมีต้นทุนในการนำพนักงานเข้ามา พัฒนาทักษะให้ทำงานได้ สร้าง Program สารพัดเพื่อ Engage พนักงาน ส่วนพนักงานเองก็มีต้นทุนในเรื่อง ‘โอกาส’ ถ้าเลือกองค์กรผิดหรืองานที่ผิด อาจจะต้องวนซ้ำอยู่กับที่ไม่ไปถึงไหน ในขณะที่เพื่อนๆที่จบมารุ่นเดียวกัน เริ่มที่ไต่ระดับประสบการณ์ ไม่ก็ได้รับ Promotion เป็นคนแรกๆของรุ่น จนเป็นที่อิจฉาของเพื่อนที่มัวแต่เปลี่ยนงานบ่อยๆ เพราะยังไงก็ยังไม่เจอที่ๆถูกใจอยู่นั้นเอง
มีคำถามจากองค์กรและนายจ้างที่ถามมาว่า พนักงานที่มีลักษณะไหนที่องค์กรไม่ควรจะเสียเวลาลงทุนด้วย และควรจะต้องตัดสินใจจากกันโดยเร็วเพื่อไม่ให้เป็นเหมือนเนื้อมะเร็งร้ายที่ลามไปสู่ส่วนอื่นอย่างรวดเร็ว ทาง ADGES มีคำแนะนำให้ผู้ประกอบการและ HR ประเมินพนักงานที่องค์กรเริ่มรู้สึกลังเลว่าจะไปกันต่อหรือพอแค่นี้โดยใช้หลักของ WASTED หรือ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ หรือเสียของในองค์กร
หลักของ WASTED หรือ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ หรือเสียของในองค์กร
W – WEAK (อ่อนแอ)
เป็นลักษณะของความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายคือ มีอาการที่ป่วยบ่อยโดยเฉพาะวันจันทร์หรือศุกร์และมักที่จะเลือกโรคที่สามารถหายได้เองอย่างมหัศจรรยในวันรุ่งขึ้น โรค ยอดฮิตจะได้แก่ อาหารเป็นพิษ ปวดหัว และมักจะวนเป็น Pattern ไปเรื่อยๆ วันรุ่งขึ้นจะต้องออกอาการอิดโรยแต่พองามเมื่อยามทำงาน แต่มักจะดีขึ้นเมื่อถึงเวลาออกนอก Office เช่นทานข้าวหรือกลับบ้านเป็นต้น อีกอาการหนึ่งจะเป็นการที่ไม่สามารถแยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทะเลาะกับแฟน มีปัญหาทางบ้าน มีปัญหาก็ต้องแบ่งปัน จนกลายเป็นว่าปัญหาของเราเป็นปัญหาของผู้อื่น บริษัทจ่ายเงินร้อย แต่เอาความสามารถมาไม่เต็มเพราะชีวิตมักจะถูกกระทำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
A – ARROGANT (หยิ่งยโส)
หยิ่งยโสหรือรู้มากกว่าผู้อื่น จนบางทีกลายเป็นดูถูกผู้ร่วมงานหรือองค์กร พวกนี้หลายทีเป็นเทวดาตกสวรรค์ที่อาจจะเคยทำงานองค์กรที่หรูหรา Hiso แต่อาจจะมีเหตุผลกลใดที่ทำให้มีอันต้องออกจากองค์กร หรือเคยทำงานกับฝรั่งจนกลายเป็นว่าทำงานกับคนท้องถิ่นอาจจะไม่เก่งเท่ากับเพื่อนร่วมงานที่เคยมีในอดีต หลายครั้งก็จะไม่สามารถรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ในงานได้ บ่อยครั้งจะเป็นพวกที่น้ำเต็มแก้ว จนเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าเริ่มขัดขยาดในการทำงานด้วย เพราะแทนที่จะจ้างมาให้ช่วยงาน กลับมาคอยตั้งแง่กว่าที่จะยอมทำงานสักชิ้น หรือไม่ก็ได้งานที่ใหม่ที่มีหลักยึดแล้ว เลยขอใช้เวลาที่เหลือในการดูถูกงานและองค์กรในปัจจุบัน องค์กรและหัวหน้างานจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่จะรับมือโดยฉับพลัน เพราะไม่งั้นคนที่หัวอ่อนในองค์กรอาจจะฟังพนักงานกลุ่มนี้ และคิดว่าเป็นเหมือนเทพเจ้ามาชี้ทางให้แสงสว่างเลยทีเดียว
S – SABOTAGE (บ่อนทำลาย)
คำนี้แปลว่า การบ่อนทำลาย พนักงานกลุ่มนี้เมื่อรู้ตัวว่าผลงานไม่มี ไม่เป็นที่น่าพอใจ โดนเรียกให้ปรับปรุงและพัฒนาแล้วแต่ก็ไม่ไปถึงไหน เริ่มจะมองอนาคตของตัวเองในองค์กรออก ก็เริ่มจะออก Campaign ในการบ่อนทำลาย องค์กร งาน หัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน หลายครั้งจะใช้เวลาที่ควรจะเอามาใช้ทำงาน มาจับกลุ่มนั่งเมาส์กันเรื่องความทุกข์ในการทำงาน และความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจากงานและสภาพแวดล้อม รวมถึงพยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาบอกถึงความเก่งกาจของตัวเอง โดยไม่ได้มองหาโอกาสในการพัฒนาตัวเองตามโอกาสที่มี หลายครั้งพนักงานไม่รู้มาก่อนว่าเมื่อเปลี่ยนงาน องค์กรใหม่มักที่จะหา Reference จากองค์กรเก่า คำแนะนำก็คือแทนที่จะออกอาการและแสดงพฤติกรรมเชิงลบให้กับนายจ้าง ควรที่จะพยายามจากกันด้วยดี เพราะยิ่งเป็นพนักงานที่ยังมีอายุงานอีกยาวนาน ย่อมเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอาชีพตัวเองที่อย่างน้อยที่ยังมีองค์กรที่เคยอยู่มา พูดถึงในเรื่องดีๆ และสามารถใช้เป็นต้นทุนในการไปต่อก็ได้
T – TOXIC (เป็นพิษ)
พนักงานที่องค์กรจะต้องสอดส่องให้เร็วรวมถึงต้องมี Action ที่จะต้องรับมือให้ไหวคือพนักงานกลุ่มที่เป็นพิษต่อองค์กร ไม่ว่าเป็นการสร้างบรรยากาศเชิงลบ ประโคมข่าวลือ จะจริงหรือไม่จริงไม่รู้ ที่ร้ายไปกว่านั้นคือการเอาเวลาทำงานไปจับกลุ่มนั่งเมาส์และพูดถึงองค์กรในทางลบอย่างสนุกสนานทั้ง ๆที่ตอนปลายเดือนก็รับเงินเดือนเขาอยู่ดี ผู้ประกอบการบางคนถึงกับถอดใจไปเลยก็พยายามสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็น Office ที่ตกแต่งมาอย่างดีและสวยงาม ใช้ Concept Co-working Space จะนั่งทำงานกันที่ไหนก็ได้ จนถึงมาตรการ Work From Home ซึ่งพนักงานบางคนก็เอาเปรียบบริษัทจากมาตรการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเอาวันทำงานไปเที่ยว ติดต่อไม่ได้ หรือไปรับ Job อื่นแล้วรับเงินเดือนสองที่อันนี้ก็เห็นกันบ่อย องค์กรจำเป็นที่ต้องตัดสินใจให้เร็วในการที่จะ Move On และปล่อยพนักงานในกลุ่ม Toxic ให้ออกไปเห็นโลกความจริง หรือเปิดโอกาสให้ไปหาโอกาสใหม่ๆนอกองค์กร ทั้งนี้มาตรการอาจจะรวมไปถึงการจ่ายค่าชดเชยตามกฎข้อบังคับของกฎหมายแรงงาน
E – ELUSIVE (ไร้เป้าหมาย)
หรือเป็นพนักงานที่เข้าใจได้ยาก เริ่มจากความไม่แน่ชัดว่าคาดหวังอะไรในงาน ไม่ว่าที่จะเป็นมาทำงานที่นี่ก่อนรอได้งานใหม่ หรือพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับสิ่งที่จำเป็นสำหรับงาน เช่น ความเป็นมืออาชีพ ความรู้ความเข้าใจในงาน หลายครั้งด้วยความที่ไม่มีความชัดเจนของเป้าหมายในการทำงานกลับทิ้งโอกาสในการเรียนรู้นั้นไปอย่างน่าเสียดาย หรือเป็นกลุ่มพนักงานที่มีอายุใกล้ๆกัน พอเริ่มมีหัวโจกในการน้อมนำความคิด กลับปล่อยให้แรงจูงใจในการทำงานของตนไหลไปกับความคิดของคนอื่น ทั้งๆ ที่ทางบริษัทได้หยิบยื่นโอกาสในการทำงานให้ในวันที่ยังไม่ได้มีทักษะอะไร การขาดเป้าหมายในการทำงาน การเป็นคนที่เรื่องมากกว่าที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จให้ได้สักชิ้น เมื่อย้ายงานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งก็ยังคงมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ การเปลี่ยนงานบ่อยๆ วนอยู่กับที่ ไม่สามารถพัฒนาทักษะเชิงลึกให้ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ถือว่าเป็นการเสียโอกากาสของตัวเองและผู้อื่น
D – DISENGAGED (หมดใจ)
ทุกปีจะมีบริษัทที่ปรึกษาจากทางอเมริกาที่ทำการสำรวจระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานและมักที่จะพบว่าจำนวนของพนักงานที่ขาดการมีส่วนร่วมในงานมีจำนวนสูงกว่า 32% และกว่า 12% จะเป็นพนักงานที่อยู่ในกลุ่ม Actively Disengaged นั้นคือนอกจากที่จะไม่ใส่ใจในงาน ขาดความมีส่วนร่วมแล้ว ยังใช้เวลาในการดึงเอาเพื่อนร่วมงานที่ยังอยู่ในระดับกลางในเรื่องของการมีส่วนร่วมให้มาเป็นพวก Actively Disengaged เหมือนกัน พนักงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อันตรายเพราะพวก Actively Disengaged มักที่จะเล่นเป็นเมื่ออยู่ต่อหน้าหัวหน้าหรือ HR แต่ลับหลังจะใช้เวลาและพลังงานในการฉุดคนอื่นลงมา และพนักงานกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นพนักงานที่ฝังตัวกับองค์กรนานที่สุดและส่วนมากลาออกเป็นคนท้ายๆ อีกเช่นกันพนักงานจำเป็นที่ต้องมีวิธีในการจัดการกับพนักงงานในกลุ่ม Actively Disengaed ถ้าองค์กรจะต้องไปต่อ
เป็นอันว่าเศรษฐกิจปีนี้มีทิศทางที่ไม่ดีขึ้น องค์กรและเจ้าของกิจการจำเป็นที่ต้องปรับตัว การได้พนักงานที่ดี เก่ง และผูกพันกับองค์กร และมองถึงการสร้างงานที่ Win Win ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งตัวพนักงานและองค์กร ถือว่าเป็นสิ่งที่หายากมากๆที่จะเจอพนักงานในระดับเพชรขนาดนั้น แต่ในเมื่อองค์กรจำเป็นที่ต้องแข่งขันและอยู่รอดให้ได้ การนำเอาพนักงานในกลุ่มที่ไม่มีผลงาน ทัศนคติที่แย่ เอาเปรียบบริษัทและเพื่อนร่วมงาน ออกจากองค์กรถือว่าเป็นงานที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่องค์กรจะต้องทำอย่างเป็นธรรมและมีหลักในการประเมินที่ยุติธรรมรวมถึงการมีการวางเป้าหมายในการปฏิบัติงานและการปรับปรุงการทำงานที่ชัดเจนตามหลัก SMART Concept
SMART Concept
- S – Specific มีเป้าหมายในการปรับปรุงที่เจาะจง
- M – Measurable วัดผลได้
- A – Achievable ทำได้จริง
- R – Realistic ตั้งอยู่ในความเป็นจริง
- T – Timely มีระยะเวลาที่เหมาะสม
หลายองค์กรหวังเพิ่งกฎแห่งกรรมนั้นคือ พนักงานทำอะไรก็ได้อย่างนั้น โกงเวลาและเงินของบริษัท ก็จะได้รับผลในภายภาคหน้า แต่คิดแบบนี้อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะถ้าองค์กรยังปล่อยไปตามยถากรรมแล้วรอเมื่อไรจะลาออกไปเอง อาจจะไม่เหลือองค์กรในอนาคตและปิดโอกาสให้กับพนักงานในอนาคตที่มีความสามารถและทัศนคติที่ดีให้มาร่วมงาน
ในการทำงานเรามักที่จะพูดถึงคำว่า Job Market is a free market นั้นคือตลาดแรงงานเป็นตลาดเปิดที่ใครจะเข้าจะออกก็ได้ แต่เส้นทางสายอาชีพของเราเป็นเหมือนกับตราสินค้าหรือ Branding ของเรา เราอยากที่จะให้ Brand ของเราเป็น Brand ที่ดีเป็นที่น่าจดจำหรือจะเป็น Brand ที่นายจ้างร้องยี้และไม่เป็นที่ต้องการ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา ชีวิตออกแบบได้
Source: Dr. Nattavut Kulnides