OKR for Mindfulness Organization

ตั้งใจมานานมากแล้วว่าอยากที่จะเอาความรู้ ความสามารถในงานที่ทำในเรื่องของการพัฒนาคน ทีมงาน และองค์กร ผ่านมุมมองในเรื่องของการสร้างการตระหนักรู้หรือ Self-Awareness ไปผนวกกับเรื่องทางด้านธรรมะซึ่งมีความลึกซึ้งและบางครั้งกลับติดข้อจำกัดในเรื่องการนำเสนอมากมายทั้งๆ ที่ Content ทางโลกไม่มีข้อจำกัดและมีวิธีการนำเสนอที่ไปไกลจนน่าตกใจ

หลายคนคงเคยไป Course ปฏิบัติธรรมแล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า

“รู้สึกดีมากตอนอยู่ใน Course แต่พอออกมาจะใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหน

ผมเองก็อยู่ในวังวนขององค์กร เป็นคนสอน คนเรียน ที่ปรึกษา โค้ช อาจารย์ ในวงการธรรมะก็คงเป็นได้แค่ลูกศิษย์ และคนตั้งโต๊ะชวนผู้คนที่หลากหลาย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิด และประสบการณ์ แต่ก็ต้องนับว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้กับครูบาอาจารย์และท่านแม่ชี รวมถึงพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ฆราวาสที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติธรรมและแนวทางการพ้นทุกข์ เขียนมาถึงตรงนี้ก็รู้สึกขำ เวลาพูดถึงเรื่องพ้นทุกข์ต้องแอบๆ พูดเดียวจะหาว่าบ้า แต่ถ้าจะพูดถึงการหาเงินมามากๆ ใช้เงินมากๆ อันนี้ไม่กลัวเพราะเป็นเรื่องปกติ

และเมื่อได้รับโอกาสจากทาง สวนโมกข์กรุงเทพฯ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่ขยันขันแข็งในการเร่งทำงานด้านธรรมะ และที่มีหลายๆโครงการที่ทำกับทาง สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย PMAT หนึ่งในโครงการที่คิดจะทำกันอยู่แล้ว

คือเรื่องที่ ดร. วิรไท สันติประภพ ได้รับแนวคิดในเรื่องขององค์กรรมณีย์หรือ Mindfulness Organization มาจาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประยุทธ์ ปยุตโต และเมื่อได้มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับทาง PMAT คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการสร้างคน สร้างองค์กรรมณีย์ เพราะเราต้องยอมรับจริงๆ ว่าคนเราทุกวันนี้ยิ่งทำงานยิ่งทุกข์ และถ้าจะรอให้ถึงวันที่ไปวัดและสถานที่ปฏิบัติธรรมเราคงไม่ได้เริ่มทำอะไรสักที แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนองค์กรเป็นสถานที่จะเจริญสติได้จะดีแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถสร้าง Mindfulness Organization ให้เกิดขึ้นจริง จะสร้าง Impact ให้คนจำนวนมาก

Blog 11

ก่อนอื่นต้องบอกว่าไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นผู้สอนหรือวิทยากรทางธรรม แต่คงเป็นได้แค่กัลยาณมิตรที่พร้อมจะเรียนรู้ไปกับทุกท่านรวมถึงวิทยากรท่านอื่นที่มาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ ยังไงถือว่าเป็นโอกาสในการลองถูกลองผิดจนเชื่อว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและองค์กรได้ไม่มากก็น้อย ส่วนตัว อยากสร้าง Content ทางเลือกทางธรรมะ ถ้าหากกว่าองค์กรตั้งเป้าหมายในเรื่องการเป็น Mindfulness Leadership ที่ผู้บริหารองค์กรต้องสามารถนำไปใช้ได้จริง และอาจจะเพิ่มเติมแค่การนำเสนอในรูปแบบสากลและเป็นภาษาองค์กร

ดังนั้นในภาษา Business เราชอบตั้งต้นงานในทางธุรกิจตรงที่ว่าอะไรคือผลลัพธ์ของ Mindfulness Organization คำถามนี้อยู่ในใจผมตั้งแต่ทีมของทางสวนโมกข์ได้ติดต่อมาจะเป็นทีมวิทยากรของโครงการ ด้วยความที่เป็น Facilitator มืออาชีพ แน่นอนที่สุดคำถามแรกก่อนที่จะเริ่มออกแบบหลักสูตรใดๆ ก็คือ จะวัดผลโครงการได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าจะประสบผลสำเร็จและคนมาเรียนได้ประโยชน์ แท้จริงแล้วเราควรจะตั้งคำถามกับตัวเองเรื่องศาสนาและอื่นต่างๆ ด้วยเหมือนกันว่าทำแล้วได้อะไร ปฏิบัติธรรมไปแล้วได้อะไร อะไรเป็นเป้าประสงค์ (Purpose) ตัววัดผลหลัก (Key Performance Indicator) หรือ Objective Key Result หรือ OKR (ที่เพิ่งรู้ว่าแปลเป็นไทยว่า ‘การตั้งเป้าหมายและการติดตามผลในสิ่งสำคัญ’ ) แต่ถ้าใครที่ได้ศึกษาศาสนาพุทธมาบ้าง (ยิ่งในกรณีของผมที่เจอครูเก่งๆ มาหลายท่าน) รวมถึงตามอ่านงานเขียนของท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมะกับการทำงานแล้ว งานสำคัญที่พูดถึงมี 2 งาน

1. งานภายนอก (Outer Work)

“คงเป็นผลลัพธ์ของงาน ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกำไร market share ตามที่องค์กรจะคาดหวังจากคนในองค์กรผลิต Productivity ออกมา ในระดับการทำงานอย่างมีศีลธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญ”

2. ส่วนที่สองพูดถึงงานภายใน (Inner Work)

หรือการทำงานที่ทำให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นอิสระจากกิเลส พบเจอกับสันติภาพและความสงบในใจแม้แต่เพียงขณะสั้นๆ ตรงนี้เครื่องมือที่สำคัญคือการเจริญสติภาวนา ซึ่งมนุษย์มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเดียวรอให้เกษียณก่อนนะเดียวจะกลับมาใหม่

ด้วยความที่มีนิสัยเป็น Consult คือถ้าเห็นตัวแปรสองตัวไม่ได้ต้องจับใส่ให้เป็น Matrix ก็จะเห็นว่ามนุษย์ Office คนทำงาน หรือคนที่ต้องมี Outer Work และ Inner Work (แท้จริงแล้วก็ apply กับทุกคน ทุกงาน) แต่เมื่อมาคุยกับมนุษย์ Office จำเป็นต้องใส่จริตทางโลกโดยมีภาษาอังกฤษและ Managemernt Tools อะไรบางอย่างมาสร้างความน่าเชื่อถือตามอัตราที่ตัวเองสร้างติดมาด้วย

Blog 10

เลยขอสรุปไว้ว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราเมื่อพูดถึงความสำเร็จในงานทางโลกและงานทางธรรม สามารถจำแนกออกมาได้เป็น 4 ประเภทตาม Inner – Outer Work Matrix (พยายามตั้งชื่อใหม่สีสรรถูกจริตชาว Office) มีมนุษย์ 4 ประเภทที่เราเจอตามสถานที่ทำงาน

1. Winner – ผู้ชนะ พวกนี้อยู่มุมขวา งานภายนอกก็ได้ ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังเอาไว้ องค์กรไปต่อได้ แข็งขันได้ เจริญเติบโตได้ งานภายในก็ไม่เสีย

“คือถ้าเป็นภาษาท่าน ว. ท่านจะบอกว่า คนสำราญ งานสำเร็จ หรือท่านพุทธทาสจะบอกว่าทำงานด้วยจิตว่าง คือทำงานเพื่องาน ไม่ได้ไปยึดติดกับ ลาภยศสรรเสริญ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือการปฏิบัติธรรม นิพพานได้จากการทำงาน”

2. Waste – เสียเวลา พวกนี้ตามสูตรอยู่ล่างซ้าย งานภายนอกก็ไม่ได้ งานภายในก็เสีย

กล่าวคือไม่ได้เรื่องสักอย่าง ไม่ได้ช่วย Add Value ให้กับองค์กรเลย อาจจะอยู่แล้วเป็นภาระด้วยซ้ำ ที่สำคัญยิ่งทำงาน ยิ่งตกนรกเข้าไปอึก ไปทำงานก็มองหาโอกาสบวกกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกค้า ตอนเช้าไป (อารมณ์) มืด ตอนกลับบ้านยิ่งมืดมากเข้าไปอีก พวกนี้ขาดทุนทั้งทางโลกและทางธรรม

3. Suffer – ทุกข์ กลุ่มนี้เป็นบุคคลที่สร้างสรรค์ผลงานให้กับองค์กรอย่างดีเยี่ยมมี KPI หรือ OKR แบบไหนทำได้หมด งาน Staff Party ก็ entertain ได้ร้องเพลงเก่ง ตั้งตัวเป็น Theme อะไรจัดเต็มทุกงาน โลกก็สรรเสริญและนับเป็นผู้บริหารที่เก่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

ยิ่งทำยิ่งอัตตาพอกพูน ยิ่งทำ ‘กู’ ยิ่งใหญ่ ลูกน้องและเพื่อนร่วมงานเข้าหน้าไม่ติด ยิ่งทำยิ่งทุกข์ พอถึงวัยเกษียณเพื่อนพาเข้าวัดอาจจะรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรมานานแล้ว ร่างกาย สังขาร นั่งๆ ยืนๆ ก็ไม่ค่อยไหวแล้ว หลายคนเงินที่สะสมมาก็เอาไปให้หมอกับโรงพยาบาลเสียหมด

4. กลุ่มสุดท้าย (ยังหาชื่อเรียกไม่ถูก) คือ

กลุ่มนี้งานภายนอกไม่สน ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร องค์กรจะอยู่ได้ไหม แต่มุ่งเน้นที่จะภาวนา ลดละกิเลศ ไม่แข่ง ไม่สู้ ไม่กระทบ เดี๋ยวสมาธิเสีย ศีลหลุด ห้าโมงกลับบ้านไปทำวัตร พอเพียง ไม่แข่งขัน มองพวกที่ยังวุ่นอยู่กับโลกว่ากิเลสหนา ขอบอกว่าจากประสบการณ์ตรงว่ากลุ่มนี้ก็มีไม่น้อยใน Office

300796237 611490587283957 2907739724380069089 n 1

เอาเป็นว่าได้วางเป้าหมายให้กับตัวเองที่จะเป็นกัลยาณมิตรเป็นทุกท่านผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันในการทำงานภายนอกและภายในให้เกิดขึ้นเพื่อสร้าง Mindfulness Organization ได้เกิดขึ้นและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและบุคคลต่อไป ยากง่ายตอนนี้ยังไม่รู้ แต่ก็นึกถึงคำของพระอาจารย์นวลจันทร์ที่ว่า

“คนอื่นอาจจะเก่งแต่ขาดโอกาส ท่านได้โอกาสนี่แล้ว อย่างมั่วแต่ถามว่าทำได้ทำไม่ได้ ทำไปเลย สุดท้ายขอให้ทำได้ และได้ธรรมด้วยนะ

สุดท้ายต้องขอขอบคุณ ดร. วิรไท สันติประภพ สำหรับโอกาสครับ จะขอสรุปบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในเรื่อง Mindfulness Organization มาเป็นระยะๆ ครับ ไม่รู้จะ post รูปอะไรดี ขอวาดเป็น Visual Thinking มาละกันครับ สำหรับท่านที่สนใจในหลักสูตร องค์กรรมณีย์หรือ Mindfulness Organization ที่ทางสวนโมกข์กรุงเทพได้จัดร่วมกับทาง PMAT สามารถดูรายละเอียดได้จาก comment ครับ รายรับหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปบริจาคให้กับทางสวนโมกข์ทั้งหมด รุ่นแรกรับไม่เกิน 25 ท่าน target ไว้เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรตอนนี้น่าจะใกล้เต็มแล้วครับ

ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ

เรื่อง : ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ