Innerverse นักเดินทางภายใน เสถียรธรรมสถาน

ก่อนจะรักคนอื่น ให้รู้จักรักตัวเอง และก่อนจะรักตัวเอง ให้รู้จักตัวเองก่อน

เราเริ่มชวนน้องคุยโดยให้น้องๆ ทุกคนลองประเมินรูปแบบทางความคิดที่เราถนัด (Thinking Preference) เพื่อเริ่ม Dialogue ในเรื่องของการตระหนักรู้ (Self-Awareness) ของตัวเราซึ่งเมื่อเริ่มเข้าใจตัวเองแล้ว การเปิดใจรู้จักผู้อื่นทำได้ไม่ยาก การใช้แบบประเมินใดๆ กับเด็กเป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก จำได้ว่าเมื่อตอนที่คุยกับคุณยายในเรื่องของการใช้แบบประเมินในเด็ก มีคุณครูท่านหนึ่งที่ร่วมประชุมด้วยกันได้เล่าให้คุณยายฟังถึงลักษณะจำเพาะของลูกตัวเองตามผลของการประเมิน คุณครู (คุณแม่ของเด็ก) ก็รู้สึกอินกับศาสตร์ที่เรียนมา หลังจากที่อธิบายมาได้สักพักใหญ่ คุณยายก็กล่าวว่า

‘หยุดเอาป้าย Sticker มาแปะหลานชั้นได้แล้ว ให้เขาเป็นในแบบของเขาเอง อย่าไปบอกเขาว่าต้องเป็นอะไร คิดอย่างไร ต้องทำอะไร’

ก็เลยเป็นที่มาของ Presentation ที่พูดให้กับน้องๆในห้องว่า

‘เราไม่ใช่นำ้โซดา อย่าให้ใครเอาป้ายมาแปะเราว่าเราเป็นรสอะไร’

ถ้าน้องมี Growth Mindset น้องทำได้ทุกอย่าง แต่การสร้างความเข้าใจตัวเองในรูปแบบความคิดของตัวเองจะทำให้เรามองความต่างอย่างสร้างสรรค์ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทุกคนได้เห็นรูปแบบทางความคิดที่หลากหลายจากน้องๆ จนทำให้น้องๆเห็นว่าเราไม่เห็นจำเป็นต้องเหมือนใคร เรามีดีในแบบของเราเอง ลองนึกถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยัดเยียดความคาดหวังให้กับลูกว่าจะต้องเป็นแบบฉัน คิดแบบฉัน เด็กจะรู้สึกกดดันแค่ไหน

รู้จักตนเองเพื่อที่จะรักตนเอง

เมื่อรู้จักตนเองกันเรียบร้อยแล้วก็รู้สึก Surprise มากว่าน้องๆ Get concept เรื่องความตระหนักรู้ได้เร็วมากและสามารถเห็นความแตกต่างในเรื่องรูปแบบการคิดของตนเองและจากกิจกรรมกลุ่ม จนมาถึงกิจกรรมที่ให้น้องๆ ได้เขียนถึงจุดแข็งของตัวเองและสิ่งที่ภูมิใจในตัวเองซึ่งน้องๆทำได้ดีมากและมีความใสๆในแบบฉบับของตัวเอง ไม่ว่าจะภูมิใจที่ตัวเองเป็นคนเป็นมิตร เรียนเก่ง เล่นกีฬาเก่ง ขยันอดทน บางคนถึงกับบอกว่าตัวเองหน้าตาดี

สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณยายก็คือ

‘คุณยายบอกว่าความทุกข์ของคนส่วนใหญ่มาจากการที่ไม่รู้จักรักตนเอง การทำร้ายตนเอง ให้อภัยกับคนทั้งโลกได้แต่ไม่สามารถที่จะอภัยตนเองได้’

เมื่อไม่รู้จักที่จะรักและเมตตาตนเองเสียแล้ว ความมีเมตตากับผู้อื่นคงเกิดได้ยาก ถึงจุดนี้ก็ได้ชวนน้องๆมาเขียนถึง บุคคลและสิ่งที่อยากขอบคุณใส่ในขวดโหลแห่งการขอบคุณหรือ Gratitude Jar ก็เป็นอีกครั้งที่เห็นความใสของน้องๆ

เมื่อรักตัวเองเป็นการพร้อมที่จะรักคนอื่น

ใน Workshop เราชวนน้องมามองย้อนชีวิตที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นสุขทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราเริ่มให้น้องวาด Life Journey ของแต่ละคน แล้วขอให้เด็กโตจับคู่กับน้องเล็กแล้วแลกเเปลี่ยน Life Journey กัน ตอนแรกเด็กโตรู้สึกผิดหวังเพราะคาดหวังว่าจะได้เล่าเรื่องสนุกๆกับเด็กในวัยเดียวกัน แต่พอเริ่มคุยแลกเปลี่ยนกันเสร็จก็เดินมาถามพี่เด็กโตว่ารู้สึกยังไงที่ได้ฟังเรื่องน้องเล็ก พี่โตๆ บอกว่าชอบที่ว่าได้รู้สึกว่ามีอะไรที่เหมือนกันและรู้สึกว่าที่จะสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองในชีวิตมากกว่า

สิ่งสำคัญในบทเรียนนี้คือการสร้าง Empathy ผ่านขบวนการทำ Deep Listening ที่ทุกคนสามารถที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและอยากที่จะส่งต่อความรู้สึกดีๆให้กับคู่สนทนา เราชวนน้องๆคุยว่าวัยทีนอาจจะกำลังฝันถึงอารมณ์ที่อยากจะมีแฟน แน่นอนที่สุดผู้ปกครองคงอยากที่จะปฏิเสธแนวคิดนี้เพราะคิดว่ายังเด็กเกินไปที่จะคิดเรื่องนี้ เอาเป็นว่าคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของแต่ละบ้าน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าเพิ่งไปคิดว่าจะหาสิ่งที่เราขาดหายไปจากอีกคน รู้จักรักตนเองแล้วเอาสิ่งที่มีไปรักคนอื่น จิตที่ให้เบากว่าจิตที่คิดจะเอา ความรักที่อยู่บนพื้นฐานของการให้ยอมนำความสุขมาให้ตัวเราและคนที่เรารัก

รู้ทันความคิดเหมือนก้อนเมฆที่มาแล้วไป

กิจกรรมใน Workshop อันสุดท้ายคือการให้น้องลองเขียนถึงความคิดของตัวเองในปัจจุบันขณะ อุปมาเหมือนกับการภาวนาที่ตระหนักรู้ในสภาวะที่เรากำลังเผชิญอยู่ เพราะเรากำลังคุยในหัวข้อสุดท้ายคือการนำเอาสามหัวข้อเรื่องที่สำคัญในเรื่องของ

1. การสร้างความตระหนักรู้หรือ Awareness

2. การรักและขอบคุณตัวเอง Appreciate

และ 3. Actualization หรือการอยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน (และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด)

นั่นก็คือให้น้องลองมาสำรวจตัวเองถึงระดับของความสุขในการใช้ชีวิตของเราในการอยู่กับสิ่งที่เรารัก (Passion) และการทำตามหน้าที่และการทำเพื่อผู้อื่น (Purpose) ถ้าสิ่งที่เราเป็นสิ่งที่เรารักและเป็นการการกระทำที่มีเป้าหมายที่สูงกว่าตัวเราเอง เมื่อนั้นเราจะพบฉันทะในสิ่งที่เราทำ เหมือนกับคุณยายจ๋าทำให้เราดูในเรื่องการใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่นและทำในสิ่งที่รักเป็นการแสดงออกถึงฉันทะในการใช้ชีวิต รวมถึงการปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจัง ซึ่งน้องเล็กอาจจะมีงงลงน้อยว่าฉันทะคืออะไร

เป็นอะไรก็ได้ ถ้าไม่เป็นอะไร

สุดท้ายขอจบด้วยคำของพระอาจารย์ที่ว่าไว้ว่า บางที่ไม่ต้องเป็นอะไรบ้างก็ได้ แค่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ จะเป็นคนบรรยาย คนเล่นกีตาร์ เป็นลูกศิษย์ เป็นครู ก็ทำอย่างเต็มที่ตามเหตุตามปัจจัย ให้ธรรมกับงาน แค่นี้ก็ถือว่าไม่มีอะไรที่ต้องเสียดาย จบกิจจบหน้าที่ด้วยความเบาสบาย แถมมีของแถมที่ว่าได้ไปเล่นกีตาร์ให้วัยทีนร่วมร้อยฟัง เป็นการเปิดตัวศิลปินพร้อมปิดตัวในเวลาเดียวกัน เห็นหน่วยก้านแล้วคงเอาดีทางนี้ยาก แต่ประทับใจกับทีมนักร้องตัวจิ๋วมากๆ ที่ร้องดีไม่มีผิดคีย์ใดๆ

มาครั้งนี้ถือว่าได้มาส่งการบ้าน Mid-Term คุณยายไปก่อน ส่วนการบ้าน Final ที่คุณยายฝากไว้จะเร่งทำให้สำเร็จนะครับ ขอขอบคุณเพื่อนๆน้องๆ จิตอาสาทุกท่านครับ

ด้วยรักและคิดถึง

เรื่องโดย : ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ