EDP 2022: Building Transformational Leaders

 

ขอขอบคุณ Thai Listed Companies Association (TLCA) ที่ได้ให้เกียรติเชิญ ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ (Founder & CEO ADGES) เป็นวิทยากรร่วมกับ ดร.วิรไท สันติประภพ (ประธานกรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ) ของหลักสูตร TLCA Executive Development Program (EDP) ในหัวข้อ ‘Mindfulness กับความเป็นผู้นำ’ ณ สวนโมกข์กรุงเทพ

ช่วงแรกเป็นการบรรยาย “ธรรมบรรยาย” โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ (ประธานสงฆ์ สำนักปฏิบัติวิวัฏฏะ)

 

“ก่อนที่จะจบการบรรยาธรรมในวันวันนี้พระอาจารย์ขอถามพวกเราผู้บริหารระดับสูงนิดว่า หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับเท่าไร”

 

ก่อนที่จะเฉลยคำตอบ ขออนุญาติทำหน้าที่ในฐานะลูกศิษย์และกัลยาณมิตร

 

วันนี้ได้มีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นเด็กวัด ลูกศิษย์พระไปกราบนมัสการพระอาจารย์นวลจันทร์ที่รับนิมนต์คณะ EDP รุ่นที่ 22 เพื่อมาปิดการสัมมนาที่ได้จัดขึ้นที่สวนโมกข์กรุงเทพ วันนี้ได้พิจารณาข้อธรรมตามธรรมเทศนาของพระอาจารย์แล้วอยากจะจดบันทึกเพื่อเป็นข้อเตือนใจตัวเองพร้อมทั้งแบ่งปันเพื่อจะเป็นประโยชน์

 

เนื่องจากผู้ฟังเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรพระอาจารย์เลยให้นำ้หนักในเรื่องธรรมะคือหน้าที่และการทำงาน โดยท่านพูดถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารโดยปราศจากอคติ เพราะถ้าเราพูดถึงบทบาทของการเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรนั้นก็คือในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหรือ MD ในการจัดการถ้าเราทำไปตามตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ใช่จัดการไปตามกิเลสของเรา ผู้บริหารจะให้ธรรมกับงานการทำงาน และจะไม่ใช่การทำกรรมของผู้จัดการเพราะไม่มีการจัดการ สุดท้ายเลยไม่ต้องกลายไปเป็น กรรมผู้จัดการ คือต้องชดใช้กรรมของผู้ที่(ดัน)เข้าไปจัดการ อย่างที่ชื่อตำแหน่งได้ระบุเอาไว้

 

สิ่งที่น่ากลัวในการทำงานของผู้บริหารคือ อคติ หมายถึง วิถีในทางที่ผิดหรือการดำเนินไปในทางที่ผิด ทั้งนี้ อันเกิดจากทัศนะหรือความคิดเห็นในทางที่ผิด ซึ่งต่อมาจึงใช้คำให้เข้าใจง่ายเป็น ความลำเอียง หรือ ความไม่เที่ยงธรรม ประกอบด้วย 4 ประการ คือ

 

1. ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบพอ

2. โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะโกรธหรือชิงชัง

3. โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะหลง หรือ ความลำเอียงเพราะความเขลา

4. ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะกลัว

 

การจัดการเรื่องของอคติที่ได้ผลคือการ ร่วมกันคิดโดยใช้รูปแบบของสภาหรือในแง่ของสงฆ์จะใช้รูปแบบของคณะสงฆ์ หมู่สงฆ์ หรือสังฆะ แล้วถ้าผู้บริหารก็ทำไปตามกิจตามหน้าที่ ตามที่คณะได้ร่วมกันพิจารณา จะไล่คนออก หรือจะให้คุณให้โทษก็ไม่ได้เป็นการทำไปเพราะอัตตาหรือความเป็นตัวเป็นตน คือให้ธรรมกับงาน ทำไปไม่ได้ไปสร้างเวรสร้างกรรมเพิ่มเติม

IMG 3410 edited scaled

พระอาจารย์ยังพูดต่อว่ากรรมการผู้จัดการที่เรารู้จักกันดี จะมีตัวย่อคือ MD ถ้าเราถอดรหัสแต่ละตัวถ้าเริ่มจากตัวแรกนั้นก็คือ M ถ้าจะพูดอย่างง่ายๆ ก็จะใช้แทนว่า Man หรือ Man Man คำนี้ก็ยังไม่ค่อยดี เพราะ Man Man จะมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่า คิดแบบนักเลง กล้าทำก็กล้ารับ จะเอาไปลงโทษ ติดคุกหรือประหารก็ทำได้เลย ก็ทำให้พวก Man Man ขาดหิริโอตัปปะหรือความละอายต่อบาป เพราะเป็นคนที่กล้ารับผล กล้าทำผิด แหกทุกกฏ และพร้อมที่จะยอมรับผลกรรม เลยผิดศีลได้ง่าย ดังนั้น Man Man ก็ยังไม่ค่อยดี ส่วน D มาเดียวๆก็ยังไม่ดีพอจะดีต้องมี P กำกับก็เลยเป็น EDP เพราะจะกลายเป็น Development Program ในพุทธเราจะเรียกว่าเป็นการภาวนาจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ เพราะเข้าสู่ระบบการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ให้ยิ่งดีขึ้นให้สูงขึ้น

 

ส่วนการทำงานถ้ามองให้ดีประกอบไปด้วย ทาน ศีล และภาวนา อยู่แล้ว การทำงานเป็นการให้ทานเพราะว่าเราให้สินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์นั้นก็คือทาน แล้วศีลคือการปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์กรที่เราเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ไปทำลายกฏขององค์กร ส่วนสุดท้ายการภาวนาหรือการพัฒนาหรือ Development เป็นการทำให้มีสิ่งที่ดีงามเพียงส่วนเดียว ดังนั้นการทำงานถ้าเราวางใจถูกต้องจะได้ทั้ง ทาน ศีล และภาวนา และยิ่งประกอบไปด้วยฉันทะ เพราะรักได้สิ่งที่ทำพยายามที่จะมองหาหนทางในการพัฒนาสร้างนวัตกรรมต่อยอดก็จะยิ่งดี อย่าปล่อยให้การทำงานเป็นไปอย่างแห้งแล้งขาดแรงบันดาลใจ เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ให้ธรรมกับงานนั้นเอง

 

และเมื่อทุกครั้งที่เราระลึกถึงการทำงานที่ประกอบไปด้วย ทาน ศีล ภาวนา เมื่อนั้นนิพพานน้อยๆก็จะเกิดขึ้นภายในใจของเรา และการทำงานหรือ Duty ก็จะเป็นการทำงานชนิดที่เรียกว่า Duty Free นั้นก็คือเป็นการทำงานที่ Clear ไม่ขุ่นเพราะเราไม่ต้องไปเสียภาษีย้อนหลัง ภาษีมาจากไหนภาษีมาจากการทำงานที่ไม่ได้ให้ธรรมกับการทำงาน โดยเอาอัตตาตัวตนและความเข้าใจผิดไปจัดการจนกลายเป็น Duty Foul นั้นก็คือการทำงานอย่างผิดกิจ ผิดหน้าที่ คิดถึงครั้งใดก็รู้สึกผิดการกระทำในอดีตว่าพลาดไปแล้ว จนต้องจ่ายด้วยความไม่สบายใจ ความขุ่นข้องหมองใจทุกครั้งที่นึกถึง นั้นก็คือ Duty ไม่ Free หรือ Duty Foul นั้นเอง

 

ดังนั้นพระอริยะทั้งหลายจะทำงานด้วยความไม่ลำเอียงเพราะจะเอียงไปทั้งลำ กล่าวคือจะเอียงไปทางธรรม แต่ปุถุชนธรรมดาอย่างเรามักที่จะเอียงไปทางเธอ (ไม่ใช่ทางธรรม) เอียงไปทางเธอ เธอก็อาจจะพาไปให้ผิดธรรมผลลัพธ์เลยเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจเพราะผิดศีล ขอให้จำไว่ว่า ‘สติมีศีลยังอยู่ สติขาดศีลขาด’ ดังสติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ดังนั้นการทำงานโดยปราศจากอคติจะเป็นการลดอุณหภูมิในองค์กรได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะตอนนี้เรามาอยู่กันที่สวนรถไฟ คือถ้ามองเสียใหม่นั้นก็คือ ‘สวนลดไฟ’ หรือลดความร้อนของกิเลส รวมถึงบทบาทของผู้บริหารที่ไม่ใช้แค่สร้างกำไรแต่รวมไปถึงพัฒนาตนเองและผู้อื่นและลดอุณหภูมิในองค์กร ให้สมกับสถานที่ที่เราอยู่ที่ชื่อว่าสวนโมกข์หรือสวนแห่งการหลุดพ้นที่แท้จริง

 

“พวกเราควรจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สงบ เย็น และเป็นประโยชน์”

 

อย่างที่ท่านพุทธทาสท่านได้กล่าวไว้

สุดท้ายกลับมาที่คำถามว่า 1 + 1 ได้เท่าไร

 

“ถ้าจะตอบว่า 1 + 1 = 1 + 1 บ้างได้ไหม จะต้องให้เป็นอะไร หรือจะให้บัญญัติเป็นอะไรไปทำไม หลายครั้งในการเข้าไปกำกับให้คุณให้ค่า จะเป็นการเอาอัตตาเราจะยุ่งกับวิถีทางธรรมชาติไปอีก ให้ 1 + 1 เท่ากับ 1 + 1 บ้างก็ได้นะ

 

สุดท้ายพระอาจารย์นวลจันทร์ได้กล่าวว่า

 

“ขออนุโมทนากับชาวคณะ EDP ที่ใส่เรื่อง สัมมาเข้าไปในเรื่อง Development Program เมื่อวางเข็มทิศถูก เราก็จะเห็นถูกและเป็นผู้นำที่มีความเห็นถูกเป็นเครื่องนำทาง เท่านั้นก็ก็ทำหน้าของเราในบทบาทผู้บริหารได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ขออนุโมทนากับทุกท่าน”

 

บทสรุปให้ตัวเอง วันนี้เป็นวันที่ดีอีกวันหนึ่ง

เรื่อง : ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ (Founder & CEO ADGES)

สนใจพัฒนาความเป็นผู้นำด้วย Situational Leadership ที่สามารถนำมาปรับใช้ภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ADGES E-mail: marketing@adges.net หรือ 6688-028-1111 หรือเว็บไซต์ www.adges.net