The ‘WHY’ of Tech Startup in the Large Corporations – Opportunity or Limitation

จาก Company Visit ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นโดยทางสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV

ADGES ขอมาแบ่งปันเรื่องราวที่ได้จากการเสวนาในหัวข้อ The ‘WHY’ of Tech Startup in the Large Corporations – Opportunity or Limitation โดย ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ General Manager, AI and Robotics Ventures (ARV) คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder, Techsauce Media Co., Ltd. และดำเนินการเสวนาโดย ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ CEO, ADGES

โดยจุดเริ่มต้นของ ARV เกิดตั้งแต่ปี 2013-2014 จากชมรมภายใน ปตท.สผ. ได้มีการประดิษฐ์คิดค้น และสามารถนำสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นไปใช้ได้หลายอย่าง จากการรวมตัวกับเพื่อนๆ พนักงานที่ทำงานในแผนกต่างๆ ทั้งวิศวกรรม ซ่อมบำรุง วิจัยและพัฒนา โดยมีโจทย์หนึ่งคือ การประดิษฐ์เทคโนโลยีที่สามารถเข้าไปช่วยงานทางด้านปฏิบัติการให้บริษัทได้ นั่นคือ กิจกรรมการตรวจสอบท่อส่งน้ำมันภายใต้ทะเล ซึ่งแต่ก่อน ใช้หุ่นยนต์ที่ต้องอาศัยคนบังคับหรือควบคุมไปยังท่อส่งน้ำมันที่อยู่ในทะเลลึกประมาณ 60-80 เมตร โดยต้องมีผู้ติดตามหุ่นยนต์ไปด้วย และบวกกับระบบความปลอดภัยที่ต้องคอยดูแล จึงมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงประมาณหลาย 10 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงต้องการหาวิธีการทำงานที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและคอยใช้คนในการบังคับ จึงเริ่มทำวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหานี้

หลังจากนั้น จึงกลับมาปรึกษากับผู้บังคับบัญชาว่าเราควรจะรอให้คนอื่นผลิตขึ้นมาหรือเราจะลองคิดค้นและลงมือทำกันเองสักตั้ง จนเป็นจุดเริ่มต้นก่อตั้ง ARV ในปี 2018 และเริ่มหาพันธมิตรจากภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความสนใจและเนื่องจาก ปตท.สผ. ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการบริการเชิงพาณิชย์ทางด้านนี้ จึงเกิดเป็นการร่วมมือเป็นพันธมิตรกันทางด้าน Service Company

Blog 1600 × 500px 6

ยุค Tech EcoSystem

การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเห็นจุดเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2015-2016 เริ่มเห็นการค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีเข้ามา โลกของการ Disruption จะเกี่ยวข้องกับ Consumer Retail Telecom และภาคการเงินอย่างธนาคาร ขณะที่ด้านพลังงานเริ่มเห็นปี 2017-2018 อย่างกลุ่ม ปตท. ที่เริ่มตั้งกลุ่มด้านนวัตกรรมขึ้นมา พร้อมกับเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นในทุกอุตสาหกรรมของประเทศไทย จนเริ่มทยอยเห็นคลื่นอื่นตามมาซึ่งขึ้นอยู่กับความตื่นตัวช่วงเวลานั้นมีอะไรที่อยากจะพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านลดต้นทุนการทำงาน

ปัจจุบันอุตสาหกรรม Health Care เช่น กลุ่มโรงพยาบาล หรือ Food Tech เริ่มหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม เพราะ Startup ทำเองไม่ได้ โดยเฉพาะสายหุ่นยนต์ ต้องหาคนที่มี Passion ร่วมกันได้ จำเป็นต้องมี Sand Box และ Corporate เข้ามาช่วยด้วย ดังนั้น Partnership ค่อนข้างมีส่วนสำคัญในการสร้าง Business Model ให้เกิดธุรกิจร่วมกัน

เทคโนโลยีของ ARV เน้นเรื่อง AI และ หุ่นยนต์ ที่จะนิยามแต่ละธุรกิจว่าเป็น Startup ภายใต้ ARV และเน้นเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมี ARV ที่สนับสนุนในฐานะ Deep Tech Center โดยมีทั้งหมด 6 ธุรกิจ ได้แก่

  • 1. Rovula ธุรกิจการให้บริการการสำรวจตรวจสอบและซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใต้ทะเล ที่ใช้หุ่นยนต์หรือ AI ชนิดใหม่ มาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีต้นทุนที่ถูกลง และมีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น เดิมจะต้องส่งนักประดาน้ำลงไปซ่อมท่อที่ใต้ทะเลลึก 60-80 เมตร ก็พยายามคิดเปลรายนเป็นการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนคน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย และยังช่วยลดต้นทุนลงได้อีกด้วย 
  • 2. Skyller การนำเอาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ AI มาใช้ในการตรวจสอบ สำรวจ จัดการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในการปฏิบัติการภาคพื้นดิน ใช้เป็นโดรนบินในอากาศแทนโดรนใต้น้ำ
  • 3. Varuna เป็นการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ของภาคการเกษตรหรือพื้นที่ป่าไม้ โดยใช้เทคโนโลยี AI และภาพถ่ายดาวเทียมมาบูรณาการด้วยกันเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจุดเริ่มต้นที่ข้ามมาภาคเกษตร เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ อีกทั้งปัจจุบันเริ่มเห็นโดรนทางภาคการเกษตรมีอัตราการเติบโตที่สูงมากและเมื่อได้มีโอกาสเข้ามาวิจัยอย่างจริงจัง จึงทำให้เห็นโอกาสอื่นเพิ่ม เช่น การใช้ Big Data Analytics ที่มาช่วยตอบโจทย์ได้อีกมาก
  • 4. Cariva เทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์การดูแลเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข โดยสามารถนำ Software ไปต่อยอดด้านสุขภาพ หรือการให้บริการหรือใช้ในสถานที่ต่างๆ ได้อีก 
  • 5. Bind ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่อง Smart City ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกหน่วยงานและทุกประเทศต้องทำ
  • 6. Bedrock คือธุรกิจที่อยู่บนเทคโนโลยี Blockchain เพื่อตอบโจทย์การเชื่อมต่อข้อมูลและการยืนยันตัวตน เพราะในปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์มีมากขึ้น ควรมีเทคโนโลยีเพื่อรักษาความปลอดภัย ที่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและใช้งานได้ง่าย

จะเห็นได้ว่า AI เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมานาน เป็นเรื่องที่ใกล้หรือไกลตัวนั้นขึ้นอยู่กับการนำไปใช้มากกว่า ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับการนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาแก้ปัญหาได้ในหลายอุตสาหกรรมอย่าง ARV ที่ทำให้สามารถทำงาน Cross Industry ได้ เพราะ Startup ไทย มีความท้าทายไม่ว่าจะเป็นการเริ่มทำ Case Study ใดก็ต้องเริ่มจาก Pain point ก่อน ยิ่งถ้ามีผู้ประกอบการที่อยู่ในองค์กรและมี Mindset ที่ต้องการ Spin-Off ก็จะยิ่งเห็นโอกาสที่เข้ามาเยอะมาก

IMG 8212 edited

Vision ของ ARV

เมื่อพัฒนาขึ้นมาถึงจุดที่สามารถ Cross Industry ได้ เราเล็งเห็นถึงศักยภาพเห็นโอกาสที่เข้ามา ARV จึงได้จัดตั้งขึ้นมาเป็น Business Transformation ของ ปตท.สผ. และกำหนดบทบาทเป็น “Deep Tech” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และ AI เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนามาต่อยอดในการทำธุรกิจที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้

องค์กรใหญ่ต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนการสร้างและพัฒนาไอเดียหรือนวัตกรรรมใหม่ๆ เพราะหากไม่เปิดโอกาสด้านนี้คงไม่มีเวทีหรือสนามได้ลองเหมือน ARV ซึ่งก่อนที่ ปตท.สผ. จะให้มีการจัดตั้งบริษัทด้านนวัตกรรมขึ้นมา แค่อาศัยการมีไอเดียไม่พอสิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การได้ลงมือทำและไม่ได้ทำคนเดียว ต้องขอความร่วมมือกับทุกๆ ฝ่ายเพราะไม่มีใครทำอะไรคนเดียวได้ทั้งหมด ดังนั้น ต้องอาศัยการคุยกันเพื่อจะได้เข้าใจในโจทย์และเพื่อแก้ปัญหา จนสามารถตอบ Solution ต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ARV ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องทำธุรกิจที่สร้างรายได้และอยู่ได้ด้วยตัวเองให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ช่วงแรกต้องมีขาดทุน แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องมีรายได้เข้ามา ต้องสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและอยู่ได้อย่างยั่งยืนร่วมกับผู้ถือหุ้น

Purpose & People

สุดท้ายแล้วโครงสร้างและวัฒนธรรมขององค์กรจะกลายเป็นตัวสะท้อนผู้นำขององค์กร หากผู้นำของเราตะหนักแล้วว่านวัตกรรมเกิดได้ ต้องให้โอกาสได้ลองคิดอะไรใหม่ๆ ต้องไม่ทำให้การคิดอะไรใหม่ๆ กลายเป็นการสร้างความรู้สึกกลัวให้กับคนในองค์กร จากที่ได้สำรวจว่าอะไรคือความท้าทายหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรไทยไม่ได้ คำตอบที่ออกมาในทิศทางเดียวกัน คือ วัฒนธรรมองค์กรกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลายคนกลัวที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ดังนั้น โครงสร้างองค์กรต้องออกแบบเรื่องวัฒนธรรมที่อนุญาตให้สร้างพื้นที่ความรู้สึกปลอดภัยได้ เพื่อที่จะทำให้เกิดการคิดไอเดียและสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา 

ที่สำคัญคือวัตถุประสงค์หรือ Purpose ขององค์กรต้องชัด เพราะสุดท้ายแล้ว Startup จะสามารถสร้างธุรกิจขึ้นมาได้หรือไม่ ยังมีหลายอย่างที่ต้องทำให้ได้ ตั้งแต่เป้าหมายทางการตลาด การระดมทุน และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น Purpose ใหญ่ขององค์กร ต้องทำให้คนที่เข้ามาเป็น Entrepreneur ในองค์กรรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น Challenge

ทั้งนี้ ADGES ฝากติดตามกิจกรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้นและเป็นกำลังใจให้กับทีมงาน IOD เพื่อให้เกิดกิจกรรมดีๆ อย่างเช่น Company Visit ที่จะพาทุกท่านเข้าไปเยี่ยมชมสัมผัสบรรยากาสการทำงานขององค์กรชั้นนำระดับประเทศและรับฟังการเสวนาและแบ่งปันข้อมูลความรู้จากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ที่สามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรของท่านต่อไป

how can we help you?

If you have questions or require more information about our services.